กรม ทช. ลงพื้นที่สำรวจหาดจากกรณี "น้ำมันดิบ" รั่วไหลลงทะเล ล่าสุดยังไม่พบก้อนน้ำมันดิบ หรือคราบฟิล์มน้ำมัน ด้าน อ.ธรณ์ ชี้ผลกระทบ 2 ด้าน ต่อ "แนวปะการัง" แนะต้องรับผิดชอบกับทะเล
วันที่ 7 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ซึ่งอยู่บริเวณทางตอนใต้ของเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก เฝ้าระวังต่อเนื่องกรณีน้ำมันรั่วไหล จ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชายหาด 3 สถานี ได้แก่ หาดบางแสน หาดวอนนภา และสวนสาธารณะบางพระ
ผลการสำรวจเบื้องต้น สภาพน้ำทะเลปกติ ยกเว้นหาดบางแสน และหาดวอนนภา พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี รวมระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตร และพบสัตว์น้ำตายเกยหาดจำนวนมาก ตั้งแต่บริเวณวงเวียนบางแสน ถึงสวนสาธารณะหาดวอนนภา ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันและไม่พบก้อนน้ำมันดิน และทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น โดยมีค่าความเป็นกรดและด่าง 7.50-8.25 อุณหภูมิ 31.5-32.4 องศาเซลเซียส และความเค็ม 29.6-32.3 ส่วนในพันส่วน และออกซิเจนละลายน้ำ 1.46-6.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพน้ำทะเล ประเภทที่ 4 และ 6 เพื่อการนันทนาการ และสำหรับเขตชุมชน ยกเว้นปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ บริเวณหาดวอนนภาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานฯ
จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำตายได้ เนื่องจากการย่อยสลายของแพลงก์ตอน โดยเหตุการณ์นี้มักพบช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการชะล้างสารอาหารจำนวนมากลงสู่ทะเล ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล โดยจะติดตามข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานผลให้ทราบต่อไป
...
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า อำลาทะเลศรีราชา ด้วยแผนที่แนวปะการังตามเส้นทาง ที่คราบน้ำมันเคลื่อนผ่าน มีภาพดาวเทียม และการสำรวจทางอากาศยืนยัน แนวปะการังบริเวณนี้ มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 250 ไร่ หลักๆ คือเกาะค้างคาว/ท้ายตาหมื่น เกาะร้านดอกไม้ และเกาะขามใหญ่
สำหรับเกาะสีชัง มีแนวปะการังกระจายกันไปตามจุดต่างๆ น้ำมันส่งผลกระทบต่อปะการัง 2 แบบ อย่างแรกคือเฉียบพลัน เกิดเมื่อน้ำมันเยอะๆ สะสมในอ่าว เมื่อน้ำลง คราบน้ำมันโดนปะการังโดยตรง ขาวทันทีตายทันที อีกแบบคือส่งผลระยะยาว ปะการังอาจไม่ตาย มองภายนอกก็ปกติ แต่จะอ่อนแอและเริ่มเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น เมื่อโดนน้ำร้อนจะฟอกขาวง่ายฟื้นยาก หรืออยู่ในน้ำคุณภาพไม่ดี เช่น น้ำเขียวปี๋ ก็อาจมีผล
อย่างแรกประเมินไม่ยาก แต่อย่างที่สองยากครับ ต้องติดตามกันเป็นปีๆ ซึ่งก็คงต้องใช้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งๆๆ ว่าการตกลงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทะเล และผู้ก่อเหตุ จะครอบคลุมถึงส่วนนี้ไว้ครบถ้วน ให้มากพอ ถี่พอ และรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ และท้องทะเลเพียงพอครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat