อีกพันธกิจของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)...การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร และสถาบันความรู้ อันเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

โครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” จึงเกิดขึ้นเน้นที่การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย ให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม มีโครงสร้างการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง จนถึงนักวิจัยอาวุโส

สร้างและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ และสร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายการวิจัยระดับนานาชาติ ผลักดันผลผลิตงานวิจัย และการสื่อสารข้อค้นพบทางวิชาการให้กับสังคมและชุมชน ตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ

สำหรับงานวิจัยดังกล่าวประจำปี 2565-2566 มีผู้ได้รับทุนรวม 6 ท่าน ส่วนที่เกี่ยวกับวงการเกษตรมีเพียง 2 ท่าน...ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ในโครงการ “การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของกลไกการอยู่ร่วมกันของกุ้งและไวรัส เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง” ค้นหาและคัดเลือกชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสที่แทรกอยู่ในจีโนมของกุ้ง และ viral copy DNA และศึกษากลไกที่ใช้ในการต้านเชื้อไวรัส เพื่อการประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

อีกท่าน รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์กลุ่มปลาดุก (ปลาดุกอุย ปลาดุกยักษ์ และลูกผสมบิ๊กอุย) เพื่อยกระดับผลผลิตและนวัตกรรมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน” เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และการปรับตัวของปลาดุกอุยภายใต้การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ร่วมกับการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ทางนิเวศในแหล่งธรรมชาติ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์ปลาดุกให้มีคุณภาพสูง.

...

สะ-เล-เต