รู้ไหม? ว่า...จนถึงปัจจุบัน “โอมิครอน” แตกหน่อต่อยอดจนมีสายพันธุ์ย่อยมากถึง 1,694 สายพันธุ์ย่อยแล้ว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)”...ย้ำเตือนอีกครั้ง “โควิด-19”...ยังคงอยู่กับเราใกล้ตัว นอกจากนี้แล้วความอ้วน ไขมันสูง เบาหวาน ความดันสูง สูบบุหรี่ 5 เรื่องนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก
ผลการวิจัยล่าสุดที่ทำการวิเคราะห์งานวิชาการ 112 ชิ้นจาก 34 ประเทศ เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สากล New England Journal of Medicine (26 ส.ค.66) พบว่า
หากควบคุมเรื่องอ้วน ไขมันสูง เบาหวาน ความดันสูง และการสูบบุหรี่ได้ จะช่วยลดโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีได้ถึงกว่า 50% ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทั้งยังจะลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ถึง 20% อีกด้วย
คำแนะนำ...คุมน้ำหนัก ระวังอาหารที่หวานมันเค็ม เลิกบุหรี่ รวมถึงการหมั่นตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นโรคต่างๆ ดังกล่าวก็ควรรักษาเพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
...
ตอกย้ำโรคโควิดด้วย...การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งจำเป็น งานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications (19 ส.ค.66)
ศึกษาผลของการได้รับวัคซีน, การที่เคยติดเชื้อมาก่อน และการที่เคยได้รับวัคซีนและเคยติดเชื้อมาก่อนว่า...จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่วงที่ “เดลต้า” และ “โอมิครอน” ระบาด ได้มากน้อยเพียงใด?
โดยทำการศึกษาในเรือนจำรัฐ Connecticut ตั้งแต่ มิ.ย.64-พ.ค.65 สาระสำคัญพบว่า การมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน หรือการเคยติดเชื้อมาก่อน หรือทั้งสองอย่างนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้บ้าง ในกรณีที่การระบาดของโรคนั้นอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง แต่หากมีการระบาดมาก เช่น มีคนติดเชื้อในห้องขังเดียวกัน จะไม่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
ทั้งนี้ผลการศึกษานี้มีประโยชน์ในการขยายผลระดับสังคม เพราะชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพของการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และ...หรือการที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนนั้นอาจช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง แต่หากเกิดการระบาดในสังคมมาก จะไม่ช่วยในการลดความเสี่ยงติดเชื้อได้
นโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรค ที่ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในสังคมมีพฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน โดยใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาเข้าช่วยต่างๆ ได้แก่ การเลี่ยงที่แออัด การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ระบายอากาศให้ดีขึ้น การรักษาความสะอาดมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ
“นับรวมไปถึงการเว้นระยะห่าง และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง...มาตรการป้องกันตัวเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนติดเชื้อแต่ละวันมาก และมีการเดินทางท่องเที่ยวค้าขายไปมาหาสู่กันมาก”
“โควิด–19”...โอมิครอนยังคงอยู่พัฒนาแตกหน่อต่อยอด วันนี้ “EG.5.1” ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า “XBB.1.16” ที่ระบาดก่อนหน้านี้
งานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ล่าสุดครองสัดส่วนระบาดทั่วโลกเป็นอันดับสองรองจาก XBB.1.16 นั้น
...มีสมรรถนะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า XBB.1.16 นอกจากนี้ตำแหน่งการกลายพันธุ์ F456L ของ EG.5.1 ยังส่งผลให้มีการดื้อต่อโมโนโคลนัลแอนติบอดีหลายต่อหลายตัวมากขึ้นอีกด้วย
...
นี่จึงเป็นอีกหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 จะมีโอกาสขยายการระบาดในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มากขึ้นทั่วโลก ดังที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้อยู่ในกลุ่ม “Variants of Interest”...สายพันธุ์ที่น่าสนใจเฉกเช่นเดียวกับ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ที่เคยทำให้เกิดระลอกก่อนๆในปีนี้
ที่น่าสนใจคือสายพันธุ์ “BA.2.86” ได้รับการยืนยันตรวจพบอีกรายที่โอไฮโอ สหรัฐอเมริกาที่มีรายงานยืนยันพบเคส...เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อจริงในชุมชน กับผลตรวจพบในน้ำเสียที่มีการรายงานมาก่อนหน้านี้เมื่อหลายวันก่อน
ต้องยอมรับว่า “BA.2.86” นั้นทำให้เกิดความกังวลทั่วโลก เพราะมีตำแหน่งการกลายพันธุ์จำนวนมาก และคาดการณ์ว่าจะส่งผลทำให้ไวรัสมีสมรรถนะต่างๆ ที่มากขึ้นแบบผิดหูผิดตา จนอาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
และ...ผลการศึกษาไวรัสนี้น่าจะออกมาในไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้
ปัจจุบันมีรายงานตรวจพบเคสติดเชื้อนี้ในหลายทวีป ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ได้แก่ อิสราเอล เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา (รวมถึงเคสที่เดินทางจากญี่ปุ่น) แอฟริกาใต้ และมีการรายงานตรวจพบในน้ำเสียจากชุมชน ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทย
...
ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน ภาพรวมทั่วโลก สะท้อนภาพ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 ยังครองสัดส่วนการระบาดสูงสุดที่ 23.9%
ในขณะที่ EG.5.x นั้นตามมาเป็นอันดับสองที่ 23.8% โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจแซง XBB.1.16 ในไม่ช้า
โดยปัจจุบันมีรายงานวิจัยพบว่า EG.5.x นั้นมีสมรรถนะในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันพอๆกับ XBB.1.5 ที่เคยครองการระบาดทั่วโลกมาในระลอกก่อนหน้านี้
...
ย้ำว่า...สายพันธุ์ย่อย BA.2.86 นั้นได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ประเด็นต่อมา US NIH เตือนเรื่องการติดเชื้อโรคโควิด-19 อาจทำลายแหล่งผลิตพลังงานในเซลล์ ผลการศึกษาวิจัยระบุว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อไมโตครอนเดีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตพลังงานในเซลล์ต่างๆของร่างกาย
ทำให้ส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย และทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ภายหลังที่เกิดการติดเชื้อ หรือเกิดปัญหา “ลองโควิด”
ความท้าทายสำคัญมีอีกว่าหลังยุตินโยบาย “ซีโร่โควิด” ประเทศจีนมีจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน ในประชากรช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปกว่า 1.87 ล้านคนในระยะเวลา 2 เดือน โดยข้อมูลนี้อยู่ในงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล JAMA Network Open (24 ส.ค.66)
ประเด็นสำคัญข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้...สะท้อนชัดเจนว่า การระบาดทั่วโลกยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
“ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ...เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ติดเชื้อแต่ละครั้งล้วนเสี่ยงต่อการป่วย ตาย และลองโควิด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ฝากทิ้งท้าย.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม