สังคมหันมาสนใจการใช้ชีวิตของคนหลังรั้วกำแพงสูงอีกครั้ง เมื่อ “อดีตนักการเมืองเบอร์ 1 ของประเทศไทย” ที่หนีคดี ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศนานกว่า 17 ปี ตัดสินใจทำหนังสือขอมอบตัวกับตำรวจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จนถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
แน่นอนว่า “ใครก็ตามเข้าไปอยู่หลังกำแพงสูงนี้ย่อมไร้ซึ่งอิสรภาพสิทธิต่างๆ” เพราะถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดเสมือน “การใช้ชีวิตทุกย่างก้าวแต่ละวัน” ถูกกำหนดจับจ้องด้วยเจ้าหน้าที่เรือนจำให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยภายใต้ระเบียบกรมราชทัณฑ์นั้น อดีตผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์ เล่าให้ทีมสกู๊ปหน้า 1 ฟังว่า
ขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่เข้าเรือนจำ หลัง “ศาลมีคำพิพากษาความผิด” ตามปกติเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องได้รับหมายอาญาหรือเอกสารคำสั่งแล้วค่อยจัดทำทะเบียนประวัติ ชื่อนามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ตรวจสอบยืนยันเป็นผู้กระทำความผิดข้อหาหรือฐานความผิดนั้นจริง และบันทึกลายนิ้วมือนำตัวเข้าสู่ประตูเรือนจำ
...
สำหรับประตูแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ประตูหน้า...ทำการตรวจค้นหาสิ่งต้องห้ามนำเข้าเรือนจำเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่ “ประตูแดนใน”...ที่ตรวจสิ่งผิดกฎหมายอย่างละเอียดซ้ำ ในสมัยก่อนผู้ต้องขังต้องเปลื้องผ้าเพื่อดูว่า“ไม่ได้ซุกซ่อนสิ่งต้องห้าม” เพราะเคยมีการซ่อนยาเสพติดในทวาร “เจ้าหน้าที่” ต้องใส่ถุงมือยางล้วงตรวจรูทวารนำออกมา
แต่ปัจจุบันเรือนจำ “ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์” ทำให้การลักลอบสิ่งผิดกฎหมายเข้าในเรือนจำยากขึ้น ถ้าหากผู้ต้องขังมีทรัพย์สินสัมภาระติดตัวมาต้องฝากเจ้าหน้าที่จดบันทึกติดต่อญาติมารับหรือพ้นโทษก็มาขอรับคืนได้ เพราะกรมราชทัณฑ์มีสวัสดิการให้ภายใต้กฎระเบียบมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
ถัดจากนั้น “เป็นการตรวจสุขสภาพร่างกาย จิตใจ และความรู้ความสามารถ” ก่อนเข้าสู่กระบวนการกักโรค 10-15 วัน “ครบกำหนดก็จะถูกย้ายเข้าแดนแรกรับ” อันจะมีเจ้าหน้าที่ทำการปฐมนิเทศ อบรม แนะนำให้ทราบถึง กฎระเบียบ วินัยข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ
ยกเว้นผู้ต้องขังเห็นว่า “คดีอัตราโทษสูงหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ” เพื่อความปลอดภัยในการควบคุมอาจถูกแยกขังไว้ต่างหาก แล้วในระหว่างอยู่แดนแรกรับนี้ก็จะมีผู้ต้องขังเดิมคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแล 1-2 เดือน เมื่อครบกำหนดจะถูกจำแนกออกไปอยู่ประจำแดนต่างๆ ตามประเภทของการกระทำความผิดแต่ละคน
ด้วยการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มทำผิดความมั่นคงสูง เช่น คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง 2.กลุ่มความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย 3.กลุ่มทำผิดความมั่นคงต่ำ เช่น คดีทั่วไป วิ่ง ลัก ชิง ปล้น 4.คดียาเสพติด แล้วในบางเรือนจำจะตรวจสอบประวัติผู้ต้องขังใหม่ว่ามีโจทก์หรือไม่ด้วย เพื่อแยกแดนไม่ให้เผชิญหน้ากันเป็นการป้องกันเกิดความวุ่นวาย
เมื่อแยกแดนแล้วภารกิจประจำวันต้องตื่นแต่ 05.00 น. สวดมนต์ไหว้พระ เวลา 06.00 น. ตรวจนับยอดลงห้องออกกำลังกาย อาบน้ำ กินข้าวเช้า เวลา 08.00 น. เข้าแถวเคารพธงชาติ แยกย้ายเข้ากองงาน ฝึกวิชาชีพ เรียนหนังสือ
ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังมักทำงานข้ามเวลาไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน แถมได้เงินปันผลตอบแทน มีความรู้วิชาชีพ หากพ้นโทษก็นำไปประกอบอาชีพได้ ทำให้ในเรือนจำมีโรงงานช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างกลึง แล้วนำผลผลิตออกขาย
เวลาถัดมา 11.30 น. เลิกงานกินข้าวมื้อเที่ยงเสร็จก็เข้ากองงานต่อจนเวลา 14.30 น. เลิกงานอาบน้ำและกินข้าวมื้อเย็น กระทั่งเวลา 16.00 น. เช็กยอดขึ้นเรือนนอน และเวลา 21.00 น. เข้านอน
ข้อดีการเข้ากองงานนี้ “มีผลต่อการเลื่อนชั้น” โดยเฉพาะงานด้านจิตอาสา มักได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ “กลุ่มถูกคัดเลือกส่วนใหญ่เป็นพวกโทษน้อย” เพื่อป้องกันการหลบหนีที่ไม่ใช่ใครอยากทำก็ไปได้เลย
...
“ผู้ต้องขังแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะความก้าวหน้าในการศึกษาและทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษก็อาจได้รับประโยชน์ด้วย เช่น ได้รับความสะดวกในเรือนจำตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เลื่อนชั้น ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ” อดีตผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ว่า
การเลื่อนชั้นแบ่งเป็น 6 ชั้น คือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นปรับปรุง และชั้นปรับปรุงมาก ฉะนั้นถ้าอยากพ้นโทษเร็ว “อย่าฝ่าฝืนระเบียบถูกตัดชั้น” จะทำให้ต้องอยู่ยืดยาวนานกว่าเดิม เพราะการเลื่อนชั้นมักถูกใช้ในการลดวันต้องโทษ เช่น ชั้นเยี่ยมลดโทษเดือนละ 5 วัน ชั้นดีมากลดเดือนละ 4 วัน ชั้นดีลดเดือนละ 3 วัน
กรณีผู้ต้องขังทำผิดวินัยจะถูกลงโทษอย่างเช่น 1.ภาคทัณฑ์ 2.งดการเลื่อนชั้น 3.ลดชั้น 4.ห้ามเยี่ยมเยียนติดต่อไม่เกิน 3 เดือน เว้นติดต่อทนายความ 5.งดประโยชน์และรางวัล 6.ขังเดี่ยว 7.ตัดวันได้รับลดวันต้องโทษ
ประเด็น “การขอพระราชทานอภัยโทษ” เรื่องนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ “ขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล” ผู้ต้องขังมีคำพิพากษาถึงที่สุดทำได้นับแต่วันแรกเข้าเรือนจำด้วยการยื่นคำร้องผ่าน ผบ.เรือนจำ กรมราชทัณฑ์ รมว.ยุติธรรม สำนักนายกฯ สำนักราชเลขาธิการ นำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเป็นฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์
...
ต่อมา “การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นหมู่ที่ทำในวันสำคัญ” จูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติอยู่ในระเบียบวินัย พัฒนาพฤตินิสัยกลับเป็นพลเมืองดีให้ได้รับการอภัยโทษตามความร้ายแรงคดี และลดหลั่นไปตามชั้น
ส่วนกรณีต้องโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 “เป็นการขอพักโทษ” ลักษณะการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ
ถัดมาคือ “อาหารการกิน” ผู้ต้องขังเลือกได้ 2 กรณี คือ กรณีแรก... “ข้าวหลวง” เรือนจำจะจัดอาหารให้ครบ 3 มื้อทุกวัน แล้วปัจจุบัน “ดำเนินตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข” ทำให้อาหารมีคุณภาพมีสัดส่วนโปรตีนชัดเจนต่างจากสมัยก่อน เพียงแต่ว่า “ผู้ต้องขังเข้ามาอยู่ในเรือนจำใหม่” มักไม่คุ้นเคยกับรสชาติของอาหาร
โดยเฉพาะข้าวสารกล้อง 5% (ข้าวแดง) จึงมักไปซื้ออาหารจากร้านค้า ในเรือนจำรับประทาน เพราะแต่ละคนมีสิทธิ์ใช้เงินที่ฝากไว้ในบัญชีรูปแบบคูปองซื้ออาหาร และของใช้ประจำวันได้วันละไม่เกิน 200 บาท
ในส่วน “ผู้ต้องขังคดีการเมืองหรือผู้มีฐานะร่ำรวย” เมื่อเข้าสู่ในเรือนจำแล้วก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์เช่นเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป “มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่น” แม้จะเคยเป็นบุคคลสำคัญทางสังคมก็ “ไม่มีห้องพิเศษสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” เพื่ออำนวยความสะดวกได้แต่อย่างใด
เพียงแต่ว่า “ผู้ต้องขังเก่ารู้จักคุ้นเคยเคารพไว้ใจเมื่อครั้งนอกเรือนจำ” แล้วมาเจอกันก็ขอให้มาอยู่ห้องนอนด้วยกันที่ไม่เบียดเสียดแน่นเพื่อช่วยดูแลเป็นการส่วนตัว ส่วนกิจวัตรประจำวันต้องทำดั่งคนอื่นทุกประการ
ประการต่อมา “สิทธิการรักษาพยาบาล” ด้วยในเรือนจำทุกแห่งจะมีสถานพยาบาล และแพทย์คอยให้การรักษาโรคให้ผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะพิจารณาส่งตัวออกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกของรัฐจะเป็นอันดับแรก หรือส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์
...
ทว่าระบบส่งต่อ “ผู้ต้องขังป่วยไปรักษานอกเรือนจํา” มีทั้งแบบไป-กลับ วันเดียวด้วยการขออนุญาต ผบ.เรือนจํา ในการนําตัวผู้ต้องขังออกไปโรงพยาบาล แต่ถ้าแพทย์มีความเห็นว่า “ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล” เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องขอใบแสดงความเห็นแพทย์นําเสนอต่อ ผบ.เรือนจํา พิจารณาอนุญาตต่อไป
ส่วนการจะอยู่พักรักษาตัวนานเพียงใด “เป็นดุลพินิจแพทย์ และความจําเป็นแห่งโรค อาการ” หากต้องพักรักษาตัวอยู่นาน “เจ้าหน้าที่เรือนจำ” ต้องเฝ้าควบคุม 2 นายต่อผู้ต้องขัง 1 คน เว้นแต่ผู้ต้องขังโทษสูง เช่น คดียาเสพติดรายใหญ่ คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง หรือผู้มีอิทธิพล จำต้องแจ้งตํารวจเพื่อรักษาความปลอดภัยขณะนั้น
การเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยนี้ก็ปฏิบัติตามระเบียบเช่นเดียวกับ “การเยี่ยมในเรือนจำ” ผู้ทำหน้าที่ควบคุมต้องจดบันทึกข้อมูลบุคคลเข้าเยี่ยมและเวลาไว้โดยละเอียด เมื่ออาการดีขึ้นต้องถูกส่งมายังเรือนจำตามปกติแล้ว
ถ้าอาการทรุดหนักก็สามารถขออนุญาต ผบ.เรือนจำ พิจารณาส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลนอกตามสมควรได้
ทั้งหมดนี้คือ “ชีวิตคนหลังกำแพงเรือนจำ” ที่ถูกควบคุมด้วยระเบียบความมั่งคงสูง “อันไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ”ฉะนั้นทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ “อย่าประมาท” เพราะพลาดมาอาจต้องเสียหลักตลอดกาล.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม