ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคือช่วงเวลาแห่งการปรับและเปลี่ยนอย่างแท้จริง จากหลากหลายเหตุการณ์ที่ทำให้โลกดูเหมือนจะหมุนไปไวกว่าที่เคย จนทำให้เราทุกคนจำเป็นปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตื่นตัวเรื่องวิกฤติโลกร้อน การเพิ่มของระดับมลภาวะ เช่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ตลอดจนการปรากฏของเชื้อโรคระดับมหันตภัยอย่างไวรัสโควิด-19 ที่ล้วนทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนปรับเปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การมองหาตัวช่วยที่จะทำให้ “การอยู่อาศัยดีขึ้น” และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ “คุณภาพอากาศ” ที่มักถูกมองข้ามไป เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ให้หันมาสนใจการดูแลมาตรฐานอากาศในอาคารมากขึ้น ทั้งเรื่องฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ

“ระบบระบายอากาศและระบบปรับอากาศในอาคาร” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำให้อากาศในบ้านหรือในอาคารมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น สามารถอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ขณะเดียวกันระบบที่ดีก็ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มากเกินไปจนทำร้ายโลก และไม่น้อยเกินไปจนอยู่อาศัยไม่สบาย ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่หลายภาคส่วนกำลังพยายามทำให้เกิดขึ้นจริง โดยการออกแบบระบบดังกล่าวก็มีการพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตยุคใหม่ และล่าสุดในปี 2566 ทางด้านของ “ASHRAE” องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของระบบระบายอากาศและปรับอากาศระดับนานาชาติ ก็ได้มีการเผยแพร่มาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า Standard 241 และ Standard 62.1 ซึ่งเป็นทั้งการปรับปรุงมาตรฐานเดิมให้ทันสมัยขึ้น รวมไปถึงการวางรากฐานในส่วนใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องการป้องกันเชื้อที่ปะปนในอากาศ โดยทาง ASHRAE เองก็ได้เลือกไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาค ในการเดินทางมาบอกเล่าถึงแนวทางล่าสุดของมาตรฐานทั้งสองแบบ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Marwa Zaatari ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศและการจัดการพลังงานในอาคาร ซึ่งเป็นนักวิชาการคนสำคัญของ ASHRAE มาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดด้วยตนเอง ร่วมกันกับพาร์ทเนอร์คนสำคัญในไทยอย่าง SCG โดยหน่วยงาน “SCG SMART BUILDING SOLUTION” ที่พร้อมส่งมอบโซลูชันเพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และยังพร้อมจะเดินหน้าตามแนวทางของมาตรฐานใหม่ด้าน IAQP (Indoor Air Quality Procedure) เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนไปด้วยกันกับ ASHRAE

ASHRAE Standard 241 และ 62.1 มาตรฐานคุณภาพอากาศเพื่อวันนี้และอนาคต

โดย ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers) คือ องค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ และระบบทำความเย็นประกอบอาคาร หรือที่ในวงการเรียกกันว่า HVAC (Heating, Ventilation and Air-Conditioning Systems) โดยจะนำเสนอแนวทางสำหรับเพื่อยึดเป็นหลักในการออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอากาศภายในอาคาร ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ นอกจากนี้ ASHRAE ยังเป็นเหมือนคอมมิวนิตี้ใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอาคาร ที่มีสมาชิกกว่า 54,000 คนทั่วโลก ที่ผ่านมา ASHRAE มีการตีพิมพ์ข้อมูลที่ได้รับการยอมรับและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติภายในวงการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 และผ่านการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยไฮไลต์สำคัญของปีนี้คือมาตรฐาน “ASHRAE Standard 241” และ ASHRAE Standard 62.1 ที่จะเกิดประโยชน์อย่างมาก หากมีการนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

สำหรับ “ASHRAE Standard 241” นั้นจะเป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยการควบคุมละอองของเหลวติดเชื้อ (Control of Infectious Aerosols) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในสภาพที่เป็นละอองของเหลวภายในบริเวณอาคาร (เช่น ละอองเชื้อที่แพร่กระจายจากการไอหรือจาม) ไม่ว่าจะไวรัส SARS-COV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของ COVID-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อโรคอื่นๆ

แม้เมื่อเราออกไปนอกอาคารจะมีการป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่หลายครั้งเมื่อเข้าสู่ตัวอาคาร หรือบ้านพักอาศัย ก็มักจะคลายความกังวลและถอดหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ชีวิตตามปกติ แต่แท้ที่จริงเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าภายในบ้านหรืออาคารนั้นจะปลอดภัยต่อการหายใจจริงหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องไปกับสถิติที่ระบุว่าคนไทยนั้นติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก มาตรฐานตัวนี้จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการทำให้อาคารยุคใหม่มีความปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องที่ตาเห็น แต่ยังรวมไปถึงเชื้อโรคที่แฝงอยู่ในอากาศอีกด้วย ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับการนำไปปรับใช้งานในบ้านเดี่ยว อาคารชุดต่างๆ สํานักงาน โรงเรียน รวมไปถึงสถานพยาบาล โดยมาตรฐาน 241 สามารถใช้ได้ทั้งกับอาคารใหม่โดยการออกแบบทั้งระบบ หรือนำไปปรับใช้กับอาคารเดิมที่มีอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน

ในส่วนของ “ASHRAE Standard 62.1” ที่นำเสนอในครั้งนี้ จะเป็นการนำมาตรฐานเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุงข้อกำหนดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น มาตรฐานการระบายอากาศและคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้ (Ventilation and Acceptable Indoor Air Quality) โดยมาตรฐาน 62.1 นั้นแต่เดิมเป็นมาตรฐานที่นิยมนำมาใช้อ้างอิงในการออกแบบระบบเพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้คนในอาคาร จึงมีความจำเป็นต้องนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ทันสมัยขึ้นด้วยข้อมูลวิจัยใหม่ๆ เทคโนโลยียุคปัจจุบัน และหลักฐานทางสถิติต่างๆ ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ยังเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IAQ) ที่ควรจะมีระบบที่ดีมากกว่าเพียงความต้องการขั้นต่ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

มาตรฐานทั้งสองประเภทที่ Dr. Marwa Zaatari นำมาบอกเล่าในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตอกย้ำการมาถึงของ “New Normal” ในการออกแบบระบบระบายอากาศภายในอาคารและที่พักอาศัยอย่างแท้จริง จากแต่เดิมที่อาจเป็นเพียงการออกแบบมาเพื่อให้อยู่อาศัยได้ หรือมองในแง่ความปลอดภัยเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน มาตรฐานเดิมๆ มันไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมองไปถึงความปลอดภัยของอากาศที่เราทุกคนต้องหายใจเข้าไป แม้จะเป็นในอาคารหรือที่พักอาศัยของตนเองก็ตาม

ทั้งนี้ การผลักดันและเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในมาตรฐานใหม่ๆ ของ ASHRAE ในภูมิภาค SEA นั้นมีทาง “ASHRAE Thailand Chapter” ซึ่งเป็นหนึ่งใน สมาชิก ASHRAE Region XIII จาก 10 ประเทศ ที่มีความรับผิดชอบในการแพร่กระจายข้อมูลและความรู้ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน โดย นายพิชญ์พัฒน์ กิจเกิดแสง ตัวแทนจาก ASHRAE Thailand Chapter ได้เผยว่า “Chapter กำลังเร่งแปล Standards ที่แพร่หลายให้เป็นภาษาไทยด้วย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น เรายังได้ร่วมมือกับพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดงานสัมมนา หรือประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับมาตรฐานใหม่ๆ ที่ ASHRAE ได้ออกมา เรายังได้ส่งต่อความรู้ไปยัง Student Branches สองแห่งของ ASHRAE Thailand Chapter นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะประสานงานต่อไปยังประเทศต่างๆ ใน SEA เพื่อการจัดสัมมนา แชร์องค์ความรู้ หรือไอเดียต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน ASHRAE หากมีส่วนใดที่มีประโยชน์ก็จะนำไปปรับใช้ร่วมกัน”

“ต้องบอกว่ามาตรฐาน 241 นี้ที่ Dr.Marwa นำเสนอในงานสัมมนานั้น เป็นมาตรฐานใหม่ที่ ASHRAE พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้มาตรฐานที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งเชื้อโรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ เราจึงต้องปรับตัวตาม เช่น มาตรฐาน 241 ที่ออกมาก็จะมีเครื่องมือใหม่ที่ช่วยให้เราสามารถวัดและปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารได้ดีขึ้น เช่น ECAi - equivalent clean airflow rate in units of flow per occupant in a space, BRP - building readiness plan และ IRMM - infection risk management mode เหล่านี้จะช่วยให้เราสร้างแผนการดูแลอาคารและจัดการกับความเสี่ยงจาก Infectious Aerosols ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล” นายพิชญ์พัฒน์ กล่าวสรุป

SCG Smart Building Solution Business องค์กรที่พร้อมขับเคลื่อนไทยไปสู่มาตรฐานโลก

ขณะที่ประชาคมโลกกำลังเดินไปสู่มาตรฐานใหม่ บ้านเราเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมจะเดินหน้าสู่ New Normal ที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคสมัยใหม่อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณภาพอากาศในอาคารที่จะเปลี่ยนการอยู่อาศัยไปสู่มิติใหม่อย่างแท้จริง โดย SCG Smart Building Solution Business ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับทาง ASHRAE Thailand Chapter ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะนำเอามาตรฐานใหม่ทั้ง 2 ไม่ว่าจะ 241 หรือ 62.1 มาประยุกต์ใช้งาน ตามความมุ่งมั่นของบริษัทที่หวังจะส่งมอบโซลูชันที่ดีที่สุดจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อใช้ในการให้คำแนะนำ ปรับปรุง และตอบโจทย์คุณภาพการอยู่อาศัยภายในอาคารที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพอากาศ ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะอาคารเก่าหรือสร้างใหม่ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสิ่งปลูกสร้างให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ทั้งยังเสริมด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ SCG Smart Building Solution เป็นหน่วยธุรกิจของ SCG ที่เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการอาคารด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคาร โดยได้ศึกษาและนำนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้ อาทิ “SCG Bi-ion” ระบบกำจัดเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งจะปล่อยออกซิเจนไอออนบวกและไออนลบ มีส่วนช่วยดักจับอนุภาค PM 2.5 สปอร์เชื้อรา ฝุ่นละออง รวมไปถึงเชื้อไวรัสต่างๆ โดยมีจุดเด่นคือสามารถติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวก ทำงานได้กับระบบปรับอากาศทุกประเภท มีอายุการใช้งานยาวนาน

หรือ “SCG Air Scrubber” ระบบบำบัดอากาศเสีย พร้อมลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปรับสมดุลสภาพอากาศภายในอาคาร ด้วยการฟอกอากาศระดับโมเลกุล จึงช่วยกำจัดมลพิษต่างๆ ภายในอาคารได้อย่างปลอดภัย และยังช่วยลดภาระในการทำความร้อนและความเย็นของระบบปรับอากาศ ส่งผลให้สามารถประหยัดพลังงานมากขึ้นได้สูงสุดถึง 30% โดยที่ผู้อยู่อาศัยภายในยังคงหายใจได้อย่างสบายเช่นเดิม ซึ่งระบบ SCG Air Scrubber นั้นผ่านมาตรฐาน ASHRAE 62.1 และยังช่วยเพิ่มคะแนนในส่วนของมาตรฐานอาคารสีเขียว (LEED) ได้มากถึง 10-12 คะแนน ทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร นวัตกรรม และด้านพลังงาน พิเศษยิ่งกว่านั้นคือสามารถติดตั้งได้ทั้งกับอาคารใหม่ และอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยปัจจุบันอาคารศูนย์การค้า Terminal 21 Pattaya ซึ่งติดตั้งระบบ SCG Air Scrubber นั้น ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการและพนักงานว่าอากาศภายในอาคารมีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น โดย นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business ได้กล่าวเสริมถึงเป้าหมายของธุรกิจ Smart Building Solution ว่า “ภายใต้แนวคิด Passion for Better Living ของ SCG การเตรียมความพร้อมที่จะส่งมอบ Solution เพื่อพัฒนาคุณภาพในเรื่องที่อยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งที่ทาง SCG นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของอาคารก็เป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ เราจึงพยายามที่จะหาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน เรื่องสภาพอากาศ และอื่นๆ เพื่อที่เราจะได้มีอาคารที่สมาร์ทและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนจริงๆ”

“ทั้งนี้ พอเราตั้งโจทย์เรื่อง Better Living เรื่องของเทรนด์ ทั้งเรื่อง Climate Change เรื่องคุณภาพอากาศ หรือเรื่องมาตรฐานใหม่ที่เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร ก็เป็นเรื่องที่เราติดตามกระแสของโลกอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้งานแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องการประหยัดพลังงาน เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย นอกจากนี้หากเรื่องของมาตรฐานใหม่และเทคโนโลยีใหม่กลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและใช้ในวงกว้าง ก็จะส่งผลดีต่อผู้ใช้งาน รวมไปถึงสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์โลกทุกวันนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เช่น กรณีของสภาพอากาศภายในอาคาร ที่ปัจจุบันหลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญและจริงจังกับมาตรการในการยกระดับคุณภาพอากาศภายในอาคารมากขึ้น เพื่อส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยภายในอาคารเป็นสำคัญ การคัดสรรใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เพียงมีประสิทธิภาพในการช่วยทำให้อากาศสะอาดปลอดภัย แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานในอาคารลงได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่าโลกใบนี้จะเป็นบ้านที่เราสามารถอยู่อาศัยอย่างมีความสุขได้ไปอีกยาวนาน