คำสอนของ “เลี่ยจื่อ” ชื่อนี้ไม่ค่อยคุ้นหู แต่นี่คือ หนึ่งใน “จื่อ” ที่ชาวจีนยกย่องให้เป็นรุ่นน้องของเล่าจื่อหรือขงจื่อ นักเขียนการ์ตูนไต้หวัน ไช่จื้อจงรวบรวมไว้ อยู่ในหนังสือเล่ม “ตูน ปรัชญาเต๋า”
ผมกำลังนึกว่า อยากเอาเรื่อง “เลี่ยจื่อเหินลม” ไปสอนใคร?
วิชาเหินลม...แปลเป็นไทย ก็คือวิชาเหาะเหินเดินอากาศนั่นล่ะครับ
เรื่องนี้เริ่มต้นว่า...เลี่ยจื่อคำนับหูซิวจื่อเป็นอาจารย์ และถือไป่ฮุนอู๋หญินเป็นมิตรสนิท แล้วก็พากเพียรเรียนวิชา จากปรมาจารย์ทั้งสอง
เป็นนาน...นานเท่าไหร่ไม่บอก บอกแต่ว่าเลี่ยจื่อเรียนสำเร็จวิชาแล้ว เขาก็เลื่องชื่อลือชา ก่อความแตกตื่นให้คนทั้งเมือง ตอนล่องลอยเหินลมกลับถึงบ้าน
จิ้นเชิงอยากเรียนวิชาก็เข้าไปกราบเลี่ยจื่อเป็นอาจารย์ ช่วยทำงานสารพัดในบ้าน พอมีโอกาสก็เข้าไปขอให้อาจารย์สอน ขอกี่ครั้งๆ เลี่ยจื่อก็ยังเฉย
ครั้งสุดท้าย จิ้นเชิงทนต่อไม่ไหวก็งอน เดินออกจากบ้าน
สี่ห้าเดือนต่อมา เขาก็กลับมาขอรับใช้เลี่ยจื่อต่อ “กลับมาทำไม” อาจารย์ถาม “ผมสำนึกแล้วครับ ผมใจร้อนใจเร็วเกินไป”
“แต่ก่อน ข้าคิดว่า เอ็งพอจะเข้าใจอะไรๆอยู่บ้าง จึงไม่ได้เรื่องตอนไปขอเรียนวิชาเหินลมจากอาจารย์ให้ฟัง” เลี่ยจื่อเกริ่นแล้ว เล่าว่า ตัวข้านั้น เมื่อไปคำนับหูชิวจื่อแล้ว ก็ฝึกจิตอยู่สามปี
ผลการฝึกสามปีที่ว่า เลี่ยจื่อบอก กระทั่งดวงใจไม่กล้าคิดเรื่อง “ใช่” “ไม่ใช่” ปากไม่กล้าพูดเรื่อง ได้–เสีย แล้ว ท่านอาจารย์หูชิวจื่อ จึงเริ่มสนใจดูข้านิดหนึ่ง
ห้าปีต่อมา ดวงใจข้าเกิดทัศนะ ใช่-ไม่ใช่ จึงเอ่ยปากดีร้าย ท่านอาจารย์หัวเราะออกมาหน่อยหนึ่ง
...
ผ่านไปอีกเจ็ดปี ข้าจึงบรรลุถึงขั้น ในความคิดไม่มี ใช่–ไม่ใช่ ไม่มี ถูก–ผิด วาจาที่เปล่งออก ปราศจากความได้–เสีย ดี–ร้าย
เก้าปีต่อมา ทุกขณะจิตของข้า และทุกคำที่เปล่งออก ไม่มีส่วนเกี่ยวพันพาดพิงถึง ใช่-ไม่ใช่ ดี-ร้ายเลย
ถึงขั้นนี้แล้ว ข้ารู้สึกว่า ทั้งภายใน ภายนอก เป็นหนึ่งเดียว การสัมผัสติดต่อกับโลกภายนอก ข้าจะใช้ตาแทนหูก็ได้ ใช้หูแทนจมูกก็ได้ ใช้จมูกแทนปากก็ได้ ไม่มีอันใดแตกต่างกันเลย
พอจิตนิ่ง รูปก็หายไป กระดูก เนื้อ ก็หลอมละลาย ไม่รู้สึกอันใดอีก ล่องลอยตามลมไปทางโน้นทางนี้
สุดท้าย ข้าไม่รู้หรอกว่า ข้าอาศัยลมเหิน หรือลมอาศัยข้าเหิน
ศิษย์หนุ่ม ฟังอาจารย์เลี่ยจื่อเล่า นิ้วนับไปด้วย รวมเวลาที่อาจารย์ฝึกวิชา...21 ปี...นาน...นานโข เอาทีเดียว
เมื่อเลี่ยจื่อสำทับ “เอ็งมาคำนับ ขอเป็นศิษย์เพียงพักเดียว ไม่ได้ดังใจก็เคือง ดวงจิตอย่างนี้ จะ “เหินลม” ได้อย่างไร” จิ้นเชิงก็พอเข้าใจ เลี่ยจื่อสรุปเคล็ดวิชาเหินลมให้ศิษย์หนุ่มฟังว่า
เมื่อจิตปราศจากความตาย ถูก–ผิด ได้–เสีย ของปุถุชนแล้ว เราก็จะได้เข้ารวมกับธรรมชาติ ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถึงตอนนั้น เราก็คือภูผา คือมหาสมุทร คือท้องฟ้า คือสายลม
อ่านเรื่องเลี่ยจื่อเหินลมจบ ผมก็เข้าใจ...เคล็ดวิชาเหินลม ของเลี่ยจื่อ ก็คือ หลักวิชา “อนัตตา” ของพุทธไทย...
สิ่งใดเป็นอนัตตา ภิกษุถึงใช้สัมมาปัญญาพิจารณาตามจริงว่า เราไม่ได้เป็นนั่น เป็นนี่ นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา นั่นไม่ใช่ของของเรา
ใคร ผู้ใด บรรลุวิชา อนัตตา ไม่ว่าอยู่ในกระต๊อบซอมซ่อ อยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่ อยู่ในโรงพยาบาล หรืออยู่ในคุก ก็จะอยู่เย็นเป็นสุขเหมือนกัน.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม