เพราะการเมือง “จกตา” มากด้วยบริบทกลลวงจ้อจี้ไม่รู้จบ ทำเอาเรื่อง “ท่องเที่ยว” ไปต่อลำบากเนื่องด้วยขาดเงินกระตุ้นตลาด ส่วนที่พอมีอยู่บ้างให้สำนักงานสาขาทั่วประเทศกว่า 40 แห่ง แบ่งกันเร่งตลาดด้วยวิธีจับสลากก็ได้แค่ 25 แห่งเท่านั้นเอง

แล้วหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มเป็น 5 แสนบาท แถมทัวร์นอกเที่ยวไทยที่คาดปีนี้จะได้ 30 ล้านคน เห็นท่าจะตกบันไดจากการเมืองเป็นต้นเหตุกับฉุดส่งออกติดลบช่วงนี้ด้วยอีก 2%

วิบากกรรมซ้ำซ้อนไปถึงไปรเวตเซ็กเตอร์ เมื่อสมาชิกคนทำทัวร์ 7 สมาคมเกิดขัดขามุ้งใหญ่ไขก๊อกจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ (สทท.) ไปกางมุ้งเล็กคืนชีพอีกครั้งในนามสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตต้า)...ด้วยเหตุผลผูกเป็น “ข้าวต้มมัด” ต่อไปไม่ได้

ฤาจะขอนั่งเป็นบอร์ดท่องเที่ยวรัฐเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนกับเขาบ้าง...ก็ยิ่งจะไกลห่าง?

อยากวอนรัฐบาลชุดไหนก็ได้...ถ้าคิดสร้างคอนเทนต์ดึง “ท่องเที่ยว” เป็นตัวตึง ต้องช่วยกวาดขยะใต้พรมตามรอย “ส่วยทางหลวง” กับ “บ่อนออนไลน์” เสียที ที่แม้จะขิงโชว์จบแบบหนังขายยาก็จงอย่านึกนะว่า...พฤติกรรมสีเทาจาก “ส่วยท่องเที่ยว” จะไม่มีในวงจรธุรกิจชนิดนี้?

...

อดีตกูรูทำทัวร์สมัย “ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ชทน.)” ก่อนเป็น “สมาคม” ปี 2543 สังกัดมุ้งย่อย สทท.ล่าสุด เผยว่า...แต่เดิมจังหวัดระยองมีธรรมชาติทะเลระดับแม่เหล็ก 3 กลุ่ม ได้แก่ เกาะเสม็ดหรือเกาะแก้วแต่พิสดารไม่ต่างป่าตองภูเก็ต แล้วยังไหลสู่เกาะล้านพัทยา

อีกกลุ่มหาดแม่รำพึง อ.เมือง โชคดีอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จึงพอเป็นลานจัดพิธีรับน้องวัยใสได้บ้าง สถานีสุดท้ายที่แหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง มีหาดทรายยาว 4 กิโลเมตร เคยเชื่อม แหลมตาล อ่าวไข่ ไกลถึงเครือข่ายชุมชนปากน้ำประแส...

ปัจจุบันน่าเสียดายที่ดินงามๆ หลายแปลงถูก “นายทุน” บุกสร้างรีสอร์ต ปิดทางเกวียนเก่าหมดแล้ว

“แต่ก่อน...พอถึงฤดูผลไม้ประจำปี” กูรูเล่าเปิดประเด็น

“ที่นี่เป็นหาดชั้นนำทะเลสวย เอเย่นต์ทัวร์นิยมพาเที่ยวสวนทุเรียน ก่อนไปลงเล่นน้ำทะเลแม่พิมพ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำลึก 5 เมตร 27 องศาเซลเซียส ไม่น่ากลัวเท่านอกชายฝั่งรัฐฟลอริดาเวลานี้ ที่สูงถึง 38 องศาฯ เทียบได้น้ำร้อนในอ่างต้ม ส่งผลต่อปะการังฟอกขาวและหมู่ปลาบางชนิดสูญพันธุ์

...แม่พิมพ์ไม่ขนาดนั้น ยกเว้นคนเมาอยากลองดีฝืนธงแดงจมน้ำตายปีละหลายคน”

กูรูทัวร์บอกอีกว่า แนวโน้มท่องเที่ยวแม่พิมพ์ดีวันดีคืน ได้ตลาดเพเป็นจุดจับจ่ายสินค้าก่อนกลับ สถิติทัวร์ไทยบวกทัวร์นอกเที่ยวระยองปี 2565 จึงมี 2.75 ล้านคน โดยเลือกแม่พิมพ์เป็นแหล่งต้องห้าม...พลาด ตามแคมเปญขายทัวร์ไทยของ ททท.

“ราคาที่ดินริมถนนเลียบหาดปรับขึ้นจากไร่ละล้านเป็นสิบล้านถึงร้อยล้าน โดยมีเอกสารสิทธิให้นักธุรกิจแย่งกันซื้อทำโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และร้านค้าสารพัด”

บริเวณแนวชายหาด 4 กิโลเมตรที่เคยโล่งแลเห็นหาดทรายถูกลมทะเลพัดหยอกล้อยามสงบ และเกรี้ยวกราดยามมรสุมกระหน่ำ ก็ถึงวันที่แม่พิมพ์ป๊อปปูลาร์ปรับโฉมตามนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวแต่อดีต และบรรลุเป้าหมายสร้างงานกระจายรายได้สู่ชุมชนถึงรัฐบาลใหม่...

ดูจะเป็นธรรมชาวบ้านคนเป็นเจ้าของทรัพยากร ที่มีผล พลอยได้จากการจับจ่ายผ่านนักท่องเที่ยว

วันนี้...แม่พิมพ์จึงตื่นเตลิดโตผิดคิวคล้ายคนตะลีตะลาน สวมเสื้อตัวใหม่ แล้วขัดกระดุมผิดเม็ดไม่ตรงรังดุมทรงผิดบิดเบี้ยวน่ารังเกียจ

“ตอนนั้นนักท่องเที่ยวมีความสุขมากกับการใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์” กูรูว่า

“ได้ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นนำอาหารทะเลปิ้งย่างใส่หาบคอนมาเร่ขาย แม่พิมพ์วันนั้นดูหล่อสมเป็นเมืองตากอากาศ”

ไม่นาน...จำนวนรถแล่นเลียบถนนคู่ชายหาดมีแต่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ ขณะเหล่าผู้ค้าก็มีแต่โตขึ้นกลายเป็นตลาดขายสินค้าเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แต่แทนที่จะเดินเร่ขายเหมือน แต่ก่อน กลับเห็นใช้รถเข็นเป็นเครื่องมือหากินริมหาดทุ่นแรงแทน

...

ต่อมาถึงทิ้งรถเข็น...หันมาตั้งแผงขายอาหารบนหาดทรายโดยไม่เคลื่อนย้ายไปไหน เมนต์นี้ขอฟ้องว่า...ถ้าตรงนั้นเป็นที่สาธารณะแล้วรัฐร้างหรือไร้เงาหน่วยงานชี้แจง ทำความเข้าใจชาวบ้านกรณีรุกล้ำหาประโยชน์ตอบแทน ซึ่งจะทำมิได้แถมผิดตามกฎหมาย

แล้วเมื่อนั้นพึงระวัง...นักท่องเที่ยวจะเกิดอาการ “ช็อตฟีล”

หรือ...หมดอารมณ์เที่ยวระยองไปในที่สุด

ที่จริงระยองมีระเบียบมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ฉบับ พ.ศ.2544 กับปรับปรุงใหม่ 2553 และปี 2563 ได้มีหนังสือย้ำพ่อเมืองทุกแห่งแจ้งนายอำเภอถึงองค์กรท้องถิ่นทุกที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

จนแล้วจนรอดหาดแม่พิมพ์ก็ยังถูกใส่เกียร์ว่าง แบบ “เอาหูไปนา ตาไปทะเล” มีแต่เมษายน 2558 ฝ่ายปกครองระดับจังหวัดกับท้องถิ่นตีกลองนัดประชุม เรื่องจัดระเบียบร้านอาหารที่บุกรุกชายหาด 23 แห่งและอื่นๆ กรณีสร้างมลภาวะ...แต่ไม่มีอะไรในกอไผ่?

อีกครั้งพฤศจิกายนปีที่แล้ว สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำขึงขังกับท้องถิ่นหลังมีการร้องเรียนร้านอาหารเทคอนกรีตแนวชายหาด

ผิด พ.ร.บ.การบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งฯ สุดท้ายได้สั่งระงับและรื้อถอน...ทำให้รู้ได้ว่าร้านอาหารดอกเห็ด 23 แห่งได้บุกรุกจริง โดยมีฝ่ายปกครองและท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ต้น

...

ทำให้เมืองตากอากาศแห่งนี้เติบโตเช่นเรือไร้หางเสือบังคับ ทำเอานักนวัตกรรมออกอาการอึดอัดอยู่ห่างๆ ไม่วายตั้งคำถามตัวเอง... “ทำไมถึงปล่อยแหล่งธรรมชาติซึ่งมีต้นทุนสูงไว้อย่างนี้ ทั้งที่สามารถพัฒนายกระดับเป็นสินค้าท่องเที่ยวคุณภาพป้อนขายยังตลาดได้ยาวนาน”

นักนวัตกรรมมองว่า การทิ้งสิ่งสวยงามให้ก้าวเดินผิดรูป คือการทำลายโลกแวดล้อมที่เป็นพิษจากปฏิกูลน้ำใช้น้ำเสียและธาตุคาร์บอนฯ แต่ละวัน...สำคัญคือความมั่นคงต่อชีวิตมนุษย์ไม่?

ใช่แค่ปักธงแดงเตือน...คนลงเล่นทะเลแบบปล่อยให้ฝ่าฝืนจนจมน้ำตายเป็นว่าเล่น แล้วกลับโทษสะดือทะเลเป็นตัวการหรือวิญญาณดึงร่างมนุษย์ไปสิงสถิตแทน...ทั้งที่ความจริงที่นี่ปลอดไลฟ์การ์ด

สุดท้ายอยากจะตั้งคำถามกันแบบตรงๆ จริงๆ จังๆ เลยว่า... แม่พิมพ์ มี “ส่วยท่องเที่ยว” ติดปลายนวมให้ใครหรือเปล่า?

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม

...