กรมควบคุมโรคชี้ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยยังเป็น สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางที่ยังต้องเฝ้าระวัง ย้ำผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับยาต้านไวรัส ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย แต่ล่าสุดมีข่าวดีองค์การอนามัยโลกส่งยารักษาผู้ติดเชื้อ ฝีดาษลิงโดยเฉพาะมาให้ไทย ใช้ได้ 100 คน เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลผลข้างเคียงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (MPox) ในประเทศไทย ที่พบส่วนใหญ่ติดเชื้อร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ว่าโรคฝีดาษลิง ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (clade 2) และสายพันธุ์แอฟริกา กลาง (clade 1) ที่มีความรุนแรงของโรค ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยยังเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อยโอกาสเสียชีวิตจะน้อยกว่า แต่ยังต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์แอฟริกากลาง กรณีการติดเชื้อฝีดาษลิงร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ได้รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมระดับภูมิคุ้มกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงจะมีอาการของโรคฝีดาษคือ เป็นตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายฝีเล็กๆ กระจายตามร่างกาย และกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อฝีดาษลิงร่วมด้วยจะทำให้ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นกระจุกๆ มีจำนวนตุ่มฝีเยอะด้วย การเสียชีวิตอาจเกิดได้จากเชื้อเอชไอวี แต่ด้วยลักษณะที่ติดเชื้อฝีดาษลิงร่วมด้วย ทำให้อาการที่แสดงออกมาจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือติดเชื้อเอชไอวีแต่คุมได้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน

...

นพ.จักรรัฐกล่าวด้วยว่า การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อฝีดาษลิงร่วมด้วย จะใช้การรักษาคู่กันไปด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี แต่เชื้อฝีดาษลิงปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะใช้วิธีการรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังศึกษาการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงโดยเฉพาะชื่อว่า Tecovirimat หรือ TPOXX ที่มีเพียง 1 ตัวยา จากบริษัทผู้ผลิตเดียวเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยได้รับยาดังกล่าวมา 100 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้และเก็บข้อมูลที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเกณฑ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่จะได้รับยาคือ มีการติดเชื้อเอชไอวีที่ระดับภูมิคุ้มกันต่ำ มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคฉวยโอกาส ผู้ที่ปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นชนิดรับประทาน ผู้ป่วย 1 คน กินเพียง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการใช้จริงในประเทศไทย รวมถึงข้อมูลผลข้างเคียงจากการได้รับยาด้วย สำหรับผู้ป่วยฝีดาษลิงที่ไม่มีความเสี่ยง สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ซึ่งโรคจะใช้เวลารักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะหายได้เอง

ส่วนความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงกับผู้อยู่ร่วมบ้านกับคนติดเชื้อนั้น นพ.จักรรัฐกล่าวว่าตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการติดเชื้อร่วมบ้าน ทั้งหมดยังเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัส หรืออยู่ร่วมบ้านกันแล้วมีเพศสัมพันธ์กัน โดยความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.สัมผัสแนบชิด เช่น การมีกิจกรรมทางเพศ ที่แม้จะสวมถุงยางอนามัย ก็ติดเชื้อได้เพราะตุ่มหนองของผู้ป่วยอาจจะโดนผิว ทำให้เกิดการติดเชื้อ 2.สัมผัสใกล้ชิด เช่น นอนเตียงร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ใกล้กันหรือแค่จับมือกัน ความเสี่ยงจะลดลงมา และ 3.สัมผัสทางอ้อม เช่น ผู้ป่วยไปนอนโรงแรม แล้วพนักงานมาทำความสะอาดห้อง การกินเลี้ยงทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้มากจนแนบชิดกัน การนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกัน

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับยาต้านเชื้อไวรัสฝีดาษลิง เดิมเคยมีการขึ้นทะเบียนในยุโรปเมื่อปี 2565 เพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษในคน (Small pox) แต่เมื่อพบโรคฝีดาษลิง ได้มีการนำมาใช้รักษา ปรากฏว่าได้ผลดี จึงมีการนำมาใช้กับฝีดาษลิง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ทำโครงการวิจัยยาตัวนี้อยู่ ประเทศ ไทยคือ 1 ในราวๆ 10 ประเทศ ที่ได้รับยาชนิดนี้มาใช้และเก็บข้อมูล