ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือคนของรัฐจับมือกับเอกชน เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโน่นนั่นนี่ แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตกลับไม่มีใครมารับซื้อ...เป็นปัญหาซ้ำซากแก้ไม่หายที่มักจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรบ้านเรา

จนโครงการที่เริ่มต้นสวยหรูต้องพังไม่เป็นท่า นั่นเพราะงบประมาณที่จัดสรรมาให้ทำได้แค่เพียงโชว์สร้างภาพ ส่งเสริมได้แค่ต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ ปลายน้ำ การแปรรูป การตลาดไม่มีให้ แถมเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกโยกย้ายเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งบ่อย...ทุกอย่างที่ทุ่มลงไปเลยซ้ำซากได้แค่เนี่ย ตามสไตล์ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ที่ไม่รู้จะทำไปทำไมให้เปลืองเงินภาษีประชาชน

ด้วยประสบการณ์ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรในชนบทมาหลายปี พบเห็นปัญหาซ้ำซากเช่นนี้เป็นประจำ มูลนิธิศิลาธัมม์ จึงร่วมกับโค้ชนักกีฬาเพาะกายทีมชาติ ทำโครงการธนาคารอาหารเป็นยา สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือร่วมกันปลูกธัญพืชแล้วนำมาแปรรูปเป็นอาหาร “เทมเป้” จำหน่ายให้กับกลุ่มผู้รักสุขภาพและบุคคลทั่วไปที่ไม่ต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์

...

รับซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าท้องตลาด 5% เพราะไม่ต้องการให้เกษตรกรต้องเจอสภาพเหมือนชาวนา ปลูกข้าวไปแทบเป็นแทบตาย แต่สุดท้ายโรงสีรวย ชาวนายังจนอยู่เหมือนเดิม

“เทมเป้เป็นอาหารชนิดหนึ่งในวิถีการบริโภคอาหารในแบบวีแกน หรือกลุ่มคนที่ไม่กินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะย่อยยาก จึงหันมากินโปรตีนที่ได้จากพืชแทน เรามาจับมือกับมูลนิธิศิลาธัมม์ เพราะที่ผ่านมานักกีฬาเพาะกายแทบทุกคนจะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ท้องผูก ถ้าหนักจะถึงขั้นเป็นมะเร็งในลำไส้ เนื่องจากแต่ละวัน พวกเราจะต้องกินไก่เยอะมาก วันหนึ่งต้องกินกันถึง 6 มื้อ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายย่อยไม่ทัน เกิดการสะสม แม้ตอนหลังจะมีการเอาเนื้อไก่มาปั่นให้กินแทน แต่ยังเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้อยู่อีก ไม่ปลอดภัยเหมือนกินอาหารเทมเป้ที่ให้โปรตีนสูง แต่ร่างกายย่อยได้ง่าย”

นายฤทธิรงค์ เครือบุตร หรือที่รู้จักกันในวงการกีฬา “ตั้ม วีแกน” โค้ชนักกีฬาเพาะกายทีมชาติ บอกถึงที่มาของการทำงานร่วมกับมูลนิธิศิลาธัมม์ ในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารเทมเป้ ภายใต้แบรนด์ Tempeh Kingdom (เทมเป้ คิงด้อม) เนื่องจากมูลนิธิมีกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์อยู่ในมือมากถึง 35 กลุ่ม มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตอาหารเทมเป้ได้

เพราะตลาดอาหารประเภทนี้ไม่ได้มีแค่นักกีฬาเพาะกายเท่านั้น คนทั่วไปสามารถบริโภคได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องวิถีการบริโภคของคนยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิม กินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้นแต่กินพืชผักน้อยลง

ส่วนขั้นตอนการแปรรูปเป็นอาหารเทมเป้นั้นไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน วัตถุดิบจะประกอบด้วย ถั่วเหลือง, ถั่วแดง, ถั่วดำ, งาดำ, งาขาว, งาหอม, อัลมอนด์, ไข่ผำ

หลังจากรับซื้อผลผลิตเกษตรกรจะนำมาล้างทำความสะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง จากนั้นล้างอีกรอบแล้วนำไปต้มในหม้อแรงดัน อุณหภูมิ 80-100 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที นำไปผึ่งให้แห้ง นำหัวเชื้อราขาวซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของมูลนิธิมาผสมแล้วบรรจุใส่ซอง หมักทิ้งไว้ 48 ชั่วโมงเพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโตเดินเต็มถุง

ราขาวนี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้โปรตีนจากพืชย่อยได้ง่าย เพราะจะทำหน้าที่เป็นทั้งพรีไบโอติกส์ และโพรไบโอติกส์

เมื่อกระบวนการหมักให้เชื้อราเดินได้เต็มที่ เป็นอันสิ้นสุดการแปรรูป นำใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายได้เลย ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ ต้องบริโภคให้หมดภายใน 1 วัน แต่ถ้าเก็บไว้ในช่องแช่แข็งตู้เย็นจะอยู่ได้นาน 7 วัน

...

ด้วยเหตุนี้การจำหน่ายของมูลนิธิศิลาธัมม์ นอกจากจะขนส่งผ่านทางระบบห้องเย็นแล้ว ยังทำบรรจุภัณฑ์ 4 ขนาด เพื่อความสะดวกในการบริโภคและเก็บรักษา มีตั้งแต่ขนาด 50 กรัม ราคา 35 บาท, 100 กรัม 80 บาท, ครึ่งกิโลกรัม 500 บาท และขนาด 1 กิโลกรัม 800 บาท

สำหรับวิธีการบริโภคสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้เหมือนเนื้อสัตว์ จะนำมาต้ม ผัด แกง ได้ทั้งนั้น แต่จะให้ดีที่สุด โค้ชนักกีฬาเพาะกาย แนะนำให้กินสดๆ จะดีกว่านำไปปรุงผ่านความร้อน สนใจอาหารโปรตีนเพื่อสุขภาพและช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ยั่งยืน ติดต่อได้ที่ โทร.09-3639-9363 หรือ  fb : มูลนิธิศิลาธัมม์  Silathum Foundation.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่านข่าวเกษตรเพิ่มเติม