"กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" สำรวจความเสียหายของ "แนวปะการัง" บริเวณบ้านอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต หลังแพยนต์บรรทุกสินค้าจอดทับ ในช่วงระดับน้ำลงต่ำสุด 

วันที่ 18 ส.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ดำเนินการสำรวจความเสียหายของแนวปะการังบริเวณบ้านอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต กรณีที่แพยนต์บรรทุกสินค้าได้จอดทับบนแนวปะการังในช่วงระดับน้ำลงต่ำสุด พิกัด Latitude 7.825759 N / Longitude 98.402954 E 

จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าแพยนต์บรรทุกสินค้าดังกล่าว ได้เคลื่อนออกไปจอดลอยลำอยู่บริเวณเกาะตะเภาใหญ่ จังหวัดภูเก็ตแล้ว และแนวปะการังได้รับผลกระทบ มีพื้นที่ประมาณ 2,924 ตารางเมตร (0.77 ไร่) จากการตรวจพื้นที่แนวปะการังที่ได้รับผลกระทบ พบว่าปะการังมีการแตกหัก ถูกทับถม รวมทั้งเกิดร่องหลุมลึกเป็นร่องน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากใบจักรเรือขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ทำให้ปะการังที่แตกหักอยู่ด้านล่างพื้นทะเลถูกขุดขึ้นมากระจัดกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการังมีชีวิตด้านบน โดยปะการังที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นก้อน เช่น ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังวงแหวน (Dipsastraea spp.) ปะการังสมองร่องยาว (Platygyra spp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea spp.) เป็นต้น สำหรับพื้นที่แนวปะการังที่ได้รับความเสียหาย อยู่ในระหว่างดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป.

...

ขอบคุณเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง