มอเตอร์ไซค์ หรือรถจักรยานยนต์ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะในประเด็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่แค่การเสียชีวิตเฉลี่ย 1 คน ทุก 37 นาที เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่มอเตอร์ไซค์ยังเป็นยานพาหนะที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่ายานพาหนะประเภทอื่นๆ ถึง 24-37 เท่า

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า โครงการได้จัดทำเอกสาร “สาระความรู้เพื่อคนไทยปลอดจากภัยจักรยานยนต์” เป็นการรวบรวมความรู้ ที่เข้าถึงง่าย อ่านเข้าใจง่าย สำหรับคนไทยที่ใช้รถจักรยานยนต์และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คนซ้อนท้าย คนซื้อรถจักรยานยนต์ คนเดินเท้าและผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่น โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเป็นผู้เขียนและรวบรวมสาระความรู้ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม, ดร.อนุชิต กลับประสิทธิ์, อาจารย์ชฎาพร สุขสิริวรรณ, คุณพิกุลทอง วงศ์อ้าย, คุณพรเทพ ขวัญใจ และตนเอง

...

หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกว่า สถานการณ์ด้านรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีความซับซ้อนมาก ตั้งแต่คนขับขี่ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นอย่างชัดเจนในเรื่องอายุที่น้อยมากแต่เริ่มขับขี่ยานพาหนะที่มีขนาดเครื่องยนต์และความเร็วที่สูงกว่าประเทศอื่น คนซ้อนรถจักรยานยนต์มีตั้งแต่ 1 คนไปจนถึง 3-4 คน ซึ่งเป็นการซ้อนที่อันตรายและผิดกฎหมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นพิการหรือตายเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ไม่รวมคนซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อให้ลูกหลานใช้ไปเรียนหนังสือ หรือให้ภรรยาทำธุระโดยไม่รู้ถึงความเสี่ยงของการใช้รถจักรยานยนต์ที่แม้จะเป็นจักรยานยนต์รุ่นครอบครัว ซีซีต่ำสุดที่มีขายคือ 110-115 ซีซี แต่ทำความเร็วได้สูงกว่าศักยภาพในการควบคุมของผู้เริ่มขับขี่

พญ.ชไมพันธุ์  ให้ข้อมูลว่า คนเดินเท้าในไทยถูกชนโดยรถจักรยานยนต์จนถึงแก่ชีวิตมากกว่าจากยานพาหนะอื่น การเสียชีวิตดังกล่าวเป็นลำดับสูงสุดของประเทศไทย เช่นเดียวกับคนขับขี่รถอื่นและใช้ถนนร่วมกับรถจักรยานยนต์ พบว่าในอุบัติเหตุที่ชนกับรถจักรยานยนต์มีประมาณครึ่งหนึ่งที่รถจักรยานยนต์เป็นฝ่ายผิด ซึ่งส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าไม่เห็นรถจักรยานยนต์หรือถูกรถจักรยานยนต์ตัดหน้า นี่คือบริบทที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของอุบัติเหตุจักรยานยนต์ในประเทศไทย

“มากกว่า 85% ของผู้ที่เกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ที่มีการศึกษาทบทวนข้อมูลอุบัติเหตุในอดีต พบว่าเกิดกับผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย แต่เรียนรู้จากสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือฝึกด้วยตนเอง ซึ่งในต่างประเทศผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องเข้ารับการอบรมการขี่ปลอดภัยจากสถาบันที่มีมาตรฐาน เช่น กรมการขนส่งทางบก โรงเรียนสอนขับรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ได้มาตรฐานของกรมขนส่งทางบกที่มีอยู่เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย” พญ.ชไมพันธุ์บอก และว่า การเข้ารับการอบรมดังกล่าวจะทำให้รู้จักการขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ดีขึ้น เพราะมีเทคนิคต่างๆที่จำเป็นต่อการขับขี่ เช่น เทคนิคการเบรก การทรงตัว การเลี้ยว รวมถึงวินัยจราจร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเรียนรู้เครื่องหมายจราจร วินัย มารยาทในการใช้เส้นทาง การเคารพต่อสาธารณะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นมาก

“มีเรื่องน่าตกใจอีกเรื่อง คือ ประเทศไทยมีจำนวนรถจักรยานยนต์มากกว่า 21-22 ล้านคัน แต่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากถึง 10 ล้านคน ไม่มีใบอนุญาตขับขี่”  หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกและย้ำว่า การสอบใบขับขี่ให้ผ่านเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญก่อนขับ รถจักรยานยนต์ คือ พาหนะทดสอบจิตใจ ผู้ขับขี่ต้องปรับตนเองให้เป็นผู้ที่มีน้ำใจต่อผู้อื่นเสมอโดยเฉพาะคนข้ามถนน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมชะลอความเร็วแต่ไกลและหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย การขับขี่รถจักรยานยนต์ในเขตเมือง ไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนไฮเวย์

...

นอกจากนี้ ในสาระความรู้ชุดนี้ยังได้ให้ข้อมูลในเรื่องของการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่พบว่ามากกว่า 50% ของผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ที่มีการศึกษาทบทวนข้อมูลอุบัติเหตุในอดีต เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ อีกทั้งการใช้ความเร็วของรถที่มากกว่าขนาดซีซีของรถรวมถึงการชนท้ายรถที่จอดข้างทางอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะการขับขี่จักรยานยนต์ในช่วงกลางคืน

 “ข้อมูลจากนักวิชาการ คือ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ระบุว่า เวลากลางคืนไม่ใช่เวลาของการใช้รถจักรยาน ยนต์ ไม่ควรเสี่ยงกับสิ่งที่มองไม่เห็นและสภาพถนนที่แสงสว่างไม่เพียงพอ การขับขี่กลางคืนจะมีความเสี่ยงกว่ามาก เรื่องการเห็นได้เด่นชัด (conspicuity) บนถนนเป็นเรื่องสำคัญทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ต้องเปิดไฟหน้ารถ ใส่ชุดและหมวกนิรภัยขับขี่มีสีที่ contrast กับถนนตามช่วงเวลาอย่างชัดเจนเพื่อให้รถและคนข้ามถนนเห็นและหลีกเลี่ยงกันได้ง่าย ไม่เกิดการชน นอกจากนี้  รถจักรยานยนต์ เล็กของประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่มีแผ่นสะท้อนแสงด้านข้าง ต้องแก้ปัญหาโดยการติดสติกเกอร์สะท้อนแสงคุณภาพสูงที่คุณภาพเชื่อถือได้ รวมทั้งไม่ควรใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่หรือแม้แต่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ด้วย”  พญ.ชไมพันธุ์บอก

...

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์ปลอดภัยได้ที่ลิงก์ https://motorcyclerider.net/category_detail.php?page=home&id=179 และที่เว็บไซต์โครงการ https://www.facebook.com/motorcyclesafetyth , https://www.facebook.com/mcsafetymove22/ , https://motorcyclerider.net