กรมป่าไม้เดินหน้า มุ่งจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ประกาศแสดงเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมโชว์ผลงานทั้งเร่งปลูกป่า เร่งจัดตั้งป่าชุมชน จับมือภาคีทุกภาคส่วน ขึ้นทะเบียน T-VER แล้ว 40 แห่ง 45,000 ไร่ ลดก๊าซคาร์บอนได้ 18,000 ตันต่อปี
วันนี้ (17 ส.ค. 66) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ โดยนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเครือข่ายโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีผู้บริหารกรมป่าไม้ ผู้บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีส่วนร่วมในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และภาคีเครือข่ายป่าชุมชนเข้าร่วม ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์ประชุม ซี อาเซียน ชั้น 10 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า การประกาศแสดงเจตนารมณ์ครั้งนี้ เป็นอีกความร่วมมือในการทำงานที่ต่อเนื่อง จากที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553
“ตั้งแต่ปี 2531 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันดูแล และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของประเทศกว่า 350,000 ไร่ ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และจังหวัดน่าน สร้างต้นแบบของการฟื้นฟูป่า และคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ประกอบกับกรมป่าไม้เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าชุมชน พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ให้สิทธิ์ชุมชนได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการรักษาป่า โดย “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จะสร้างกลไกที่ให้สิทธิประโยชน์กับชาวบ้านในการดูแลป่าชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน อนุรักษ์ป่า และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งกรมป่าไม้มีความตั้งใจอยากให้เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น และมีความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคีภาคเอกชน และภาคประชาชนในการขยายผล ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้างต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินมาแล้วรวม 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี 2531 เพื่อดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้กว่า 100,000 ไร่ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระยะที่ 2 ปี 2553 ต่อยอดในพื้นที่จังหวัดน่าน ดูแลฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้กว่า 250,000 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน และระยะที่ 3 ปี 2565 ภายใต้โครงการ “จัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยป่าชุมชน 16 แห่ง เนื้อที่ 19,786 ไร่ จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 78,000 ตัน และระยะที่ 2 พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี กระบี่ ประกอบด้วยป่าชุมชน 30 แห่ง เนื้อที่ 23,603 ไร่ จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 97,000 ตัน จากความร่วมมือดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนกว่า 74,331 คน จากการดูแลและฟื้นฟูป่า รวมถึงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดรายได้ภาคครัวเรือน ลดรายจ่าย ลดปัญหาหนี้สิน ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มเพื่อการอนุรักษ์ในรูปแบบป่าชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าและตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า แก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม และลดปัญหาไฟป่า
กรมป่าไม้ มีความมุ่งมั่น และตั้งใจผลักดันการดำเนินงานตามนโยบาย และแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ จึงริเริ่มดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน เร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สร้างรายได้จากการปลูกป่าในรูปแบบ “คาร์บอนเครดิต” โดยกรมป่าไม้ ได้ประกาศ “ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้” เพื่อให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ป่า ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกันนี้ กรมป่าไม้ยังได้เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และร่วมกับชุมชนขึ้นทะเบียน T-VER ภาคป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 40 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 18,000 ตันต่อปี
“ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ได้วางแนวทางการดำเนินงานและพื้นที่ป่าไม้ เพื่อเข้าร่วมโครงการทั้งในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ไม่มีสภาพป่าราว 0.71 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่จะดำเนินการได้ ต้องเป็นไปตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง คือ แนวทางที่ 1 พื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมกิจกรรมกับกรมป่าไม้ในรูปแบบ CSR ตามมาตรา 19 แนวทางที่ 2 การขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตามมาตรา 54 พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 13/1 ประกอบมาตรา 16 และมาตรา 20 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และแนวทางที่ 3 พื้นที่ป่าที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 18 พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ สำหรับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต กรมป่าไม้ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยชุมชนและผู้ร่วมดำเนินการจะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ร้อยละ 90 สำหรับความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับกรมป่าไม้ จะช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว
ด้านหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่ากับกรมป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจ ระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กรมป่าไม้ และชุมชนที่ร่วมแรง ร่วมใจทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน