วันนี้ (17 ส.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องจูปิเตอร์ 12-13 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในโครงการสร้างการรับรู้ สืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารจังหวัดนนทบุรี นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิรวรรณ เพ็ญพาส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก นางปวีณ์ริศา เกิดสม นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับฟัง
โอกาสนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีให้แก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเพชรดอกแก้ว ประจำปี 2566 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ 1. นางปิติมา รักพานิชมณี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดฉะเชิงเทรา 2. นางชุลีพร เตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตราด 3. นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครราชสีมา 4. นางพิชานันท์ เผือกผ่อง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช 5. ทันตแพทย์หญิงศิริรัตน์ ศิริมาศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ 6. นาวาตรีหญิง โนสมา หลีเส็น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา 7. นางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมหาสารคาม 8. นางสุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง 9. นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย และ 10. นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี จากนั้นคณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานรางวัลสตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2566 และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลากหลายสาขา จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในปี 2566
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการน้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ทรงน้อมนำพระราชดำริทั้งปวงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเป็นหลักชัย ด้วยความทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในฐานะพสกนิกรที่ดีผู้จงรักภักดี เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ผ้าพื้นถิ่นย้อมสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่นที่แต่ละจังหวัด เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไป จึงได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด หลอมรวมดวงใจของพสกนิกรจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ถักทอเส้นใยเป็นผืนผ้าพื้นถิ่นย้อมสีธรรมชาติ อาทิ สีม่วงจากมะเกลือ สีเหลืองจากขมิ้น เข ใบมะม่วงป่า ต้นเพกา สีแดงอมน้ำตาลจาก ครั่ง ใบสัก ประดู่ สีคราม จากต้นคราม เป็นต้น รวมจำนวน 87 ผืน ซึ่งประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2566 ในวันพรุ่งนี้
"สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัล "เพชรดอกแก้ว" แก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดผู้มีผลงานดีเด่น จำนวน 10 รางวัล เป็นปีที่ 2 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยในปีต่อไปสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดผู้ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร " "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" รวมถึงการดูแลสุขอนามัยแม่และเด็ก และมหาดไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงล้วนแล้วแต่เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นการน้อมนำพระราชกรณียกิจ มาเป็นหลักชัยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน อาทิ พระราชดำริการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งในวันนี้มีจำนวน 14 ล้านครัวเรือน สามารถประหยัดเงินที่ไม่ต้องซื้อผักวันละ 50 บาท คิดเป็นวันละ 700 ล้านบาท และหากคิดทั้งปี 365 วัน สามารถประหยัดเงินได้ปีละ 255,500 ล้านบาท และในส่วนของการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการแยกขยะ ทุกวันนี้ 11 ล้านครัวเรือนมีการคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีตัวอย่างที่สำคัญ คือ พื้นที่บ้านเกาะ หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ได้ขับเคลื่อนการขายขยะมา 6 ปี มีรายได้สะสม 20 กว่าล้านบาท กลับคืนสู่สมาชิกมากกว่า 1,000 คนในครัวเรือน ทั้งนี้ เงินรายได้จากการขายขยะ ได้นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อมีสมาชิกเสียชีวิต นับตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีสมาชิกเสียชีวิต 251 ราย ได้มอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เป็นเงิน 19,235,550 บาท และขอชื่นชมทุกจังหวัดที่ช่วยกันส่งเสริมจนทุกวันนี้มีการขับเคลื่อนโครงการกองทุนธนาคารขยะ 2,052 กองทุน จำนวนสมาชิกกว่า 5.5 แสนคน" ดร.วันดีฯ กล่าวในช่วงต้น
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นคืนชีวิตช่างทอผ้าเมื่อ 50 ปีก่อน เกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และนับเป็นความโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมาต่อยอดพระราชกรณียกิจทั้งปวง โดยพระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อพัฒนาศักยภาพและแนวความคิดตลอดจนกรรมวิถีผลิตผืนผ้าของช่างทอผ้าทั่วประเทศไทยที่แต่เดิมมักจะคุ้นชินกับการถักทอผ้าตามลวดลายแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดตกทอดมา ให้ได้มีการปรับเปลี่ยนขนาด ลวดลาย และเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งทรงส่งเสริมในด้านแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ซี่งไม่มีแผ่นดินไหนในโลกที่ "เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะทรงลำบากตรากตรำพระวรกายลงมาออกแบบลายผ้าและพระราชทานให้ประชาชนได้นำไปทอ ไปย้อม เช่น ที่บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จากเดิมใช้ครามย้อมผ้าถึง 10 น้ำ ทำให้ผ้าสีครามเข้มจนมืดทึบ ไม่สวยงาม แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพที่ได้พระราชทาน รวมทั้งการแนะนำของทีมคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นแพนโทน และมีสีธรรมชาติจากพืชชนิดอื่น ๆ มาผสมผสาน ทำให้จากผ้าเมตรละ 250 บาท กลายเป็นเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ชุบชีวิตให้ชาวบ้านได้มีรายได้จุนเจือครอบครัวที่เพิ่มพูน มีความสุขที่มากขึ้นและยั่งยืน และพระกรุณาธิคุณนี้ยังแผ่ขยายไปถึงกลุ่มสมาชิกใกล้เคียง อาทิ บ้านคำประมง มีคนเป็นแม่ถึงกับบอกว่า ตลอดชีวิตเคยเป็นหนี้นอกระบบ และสามีป่วยติดเตียง มีลูกกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งทุกครั้งที่ลูกมาขอเงิน ต้องไปกู้ยืมเงินมาให้ลูก แต่เพราะ "พระองค์หญิง" ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม จากไม่มีเงินให้ลูกได้ไปเรียน ทุกวันนี้ตนภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่แม่ เพราะมีเงินให้ลูกได้ไปเรียน และปลดหนี้หมด ซึ่งสิ่งที่พระองค์ทำนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตของสตรีไทยในถิ่นชนบทจำนวนมาก จากอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นอาชีพหลัก ที่สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน จุนเจือไปถึงครอบครัวได้มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานหนังสือ "แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 4" (Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2023-2024) โดยมีการแบ่งเทรนด์สีประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ปี 2023 ถึง 2024 ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย "เทรนด์ SUBTLE STRENGTH : สงบเงียบ เฉียบคม" "เทรนด์ LUMINOUS MIND : สุขใส เรืองรอง" "เทรนด์ SPORT HERO : กราวกีฬา" และ "เทรนด์ THE GREAT EXPLORER : การค้นพบอันยิ่งใหญ่" เพื่อเป็นแนวทางและองค์ความรู้ให้กับประชาชนผู้ประกอบการช่างทอผ้าจากทั่วประเทศ ได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาฝีไม้ลายมือต่อไปอีกด้วย" ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมกันขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งที่ดีร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกๆ เรื่อง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วทุกพื้นที่ได้มีสิ่งที่ดีของชีวิต รวมทั้งจะต้องช่วยกันดูแลคนในครอบครัวมหาดไทย คือ บรรดาข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่าย และครอบครัวของทุกคน ให้สามารถทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชน ด้วยหัวใจของการเป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน ซึ่งสิ่งที่เราชาวแม่บ้านมหาดไทยได้มีโอกาสทำให้กับคนอื่นนี้ ทำให้เกิดคุณค่ากับสังคม ยังประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เราต้อง "Go for it!!" ส่งมือเข้าไป ส่งใจเข้าไป ลงไปโค้ชชิ่ง ไปให้กำลังใจพี่น้องประชาชน เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกโอกาสของชีวิตอย่างยั่งยืน
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการสร้างการรับรู้ สืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ "การรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" โดย ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการบรรยาย หัวข้อ "แนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Textiles Trend Autumn/winter 2023-2024) โดยคุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ได้นำองค์ความรู้ไปสนับสนุนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักรู้ผลกระทบในการใช้สารเคมีย้อมผ้า ยกระดับสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน