“กรมประมงได้พัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ตั้งแต่ปี 2551 โดยได้ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 สูตรแรกขึ้นมา เป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคตายด่วน (EMS) และใช้แก้ไขปัญหาด้านคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเชื้อก่อโรคยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น การใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะลดปัญหา

ปี 2564 กรมประมงจึงได้มีการพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก (probiotic) ช่วยควบคุมแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร และผลิตเอนไซม์ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้กุ้งดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้กุ้งมีความแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี ลดปัญหาโรคตายด่วนจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง บอกถึงที่มาของหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 และปม.2 ที่กรมประมงยังคงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใช้ พร้อมดำเนินโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์ โดยได้จัดตั้งหน่วยผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม 20 หน่วย

...

ปัจจุบันมีกลุ่มที่ยังดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ 18 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ ตราด, จันทบุรี, ระยอง, นครปฐม, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, ระนอง, ภูเก็ต, ตรัง, พังงา, กระบี่, นครศรีธรรมราช, พัทลุง และปัตตานี และในปี 2566 เพิ่มขึ้นอีก 1 หน่วย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ โดยมีหน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ

“เมื่อ 2-3 ปีก่อน ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของเราได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคขี้ขาว เราพยายามใช้ยาต่างๆ เข้ามาช่วย แต่ไม่เห็นผล ทำให้กุ้งตายและขาดทุน จนกระทั่งกรมประมงได้ลงพื้นที่เพื่อแนะนำและทดลองให้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ของกรมประมง ช่วงแรกทดลองใช้ ปม.1 พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการรอดของกุ้งได้ ต่อมากรมประมงพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 เราได้ทดลองใช้สูตรใหม่ ปรากฏว่า กุ้งมีความแข็งแรงมากขึ้น ทนต่อความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดี ที่สำคัญพบสารอินทรีย์ตกค้าง ในพื้นบ่อน้อยลง คุณภาพน้ำดีมากขึ้น”

นายชาลี จิตประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา เจ้าของกิจการสาริกาฟาร์ม บอกว่า ปัจจุบันทางฟาร์มได้มีการจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นมา ภายใต้การดำเนินการในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนฉะเชิงเทรา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้สามารถนำไปปรับใช้กับฟาร์มของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมประมงให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

...

ด้าน นายอภิรักษ์ ช้างทรัพย์ รองประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี เผยว่า ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ของกรมประมงในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในพื้นที่ 1,000 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2561 เพราะประสบปัญหาเรื่องของโรค สภาพอากาศที่แปรปรวน คุณภาพอาหาร คุณภาพน้ำ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้กุ้งตายง่าย

“เราจึงหันมาให้ความสนใจกับการจัดระบบการเลี้ยงมากขึ้น มีการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 และ ปม.2 ของกรมประมงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากการสอบถามสมาชิกในชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานีต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ของกรมประมงนั้น ช่วยทำให้กุ้งแข็งแรงมากขึ้น สามารถบรรเทาความเดือดร้อนและลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้เป็นอย่างดี” รองประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าว.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม