สัตวแพทย์ระบุสาเหตุการตายของ “พลายตุลา” เพราะเกิดอาการ บาดเจ็บรุนแรง เนื่องจากกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ข้างหัก ส่งผลให้มีสภาวะช็อกตามมา ต้นเหตุจากป่วยด้วยโรคกระดูกบาง มีการสลายของมวลกระดูก เผยก่อนตายสุดทรมาน ล้มตัวลงนอนไม่ได้ ต้องยืนหลับหลายคืนติดต่อกันจนขาหน้าอักเสบ สุดท้ายล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ต้องใช้เครนช่วยพยุงตัวก่อนสิ้นลมสงบในวัย 10 เดือน

สะเทือนใจคนรักสัตว์ ภายหลัง “พลายตุลา” ลูกช้างป่าเพศผู้ พลัดหลงโขลงเดินมาหาทหารพรานนาวิกโยธิน บริเวณฐานปฏิบัติการทุ่งกร่าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ต.ค.65 ขณะนั้นมีอายุราว 1-2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าตุลา” ตามเดือนที่พบเจอ สภาพลูกช้างมีอาการอ่อนแอ สัตวแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และให้กินน้ำนมช้างจากแม่ช้าง 4 เชือก ที่เพิ่งตกลูกจากสวนนงนุช พัทยา จากการตรวจสุขภาพลูกช้างพบว่าป่วยเป็นโรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) ทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสแบบกินเพื่อรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนทำให้พลายตุลาเริ่มมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นช้างอารมณ์ดีขึ้น ขี้เล่น กลายเป็นขวัญใจคนรักสัตว์ ต่อมาเมื่อเย็นวันที่ 13 ส.ค. พลายตุลาได้ล้มลงระหว่างส่งมารักษาตัวที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้บรรดาแฟนคลับของช้างน้อยแสนรู้ตัวนี้จำนวนมาก

ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 14 ส.ค. นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ ผ่าชันสูตรซากช้างป่า “พลายตุลา” วัย 10 เดือน เพื่อหาสาเหตุการตาย และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางปฏิบัติการยืนยันถึงสาเหตุการตาย พบสาเหตุหลักเกิดจากสภาวะกระดูกบางทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาหน้า (ด้านบน) ทั้ง 2 ข้าง พบการสลายของมวลกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักละเอียด ผิดรูป เป็นสาเหตุของอาการไม่ล้มตัวลงนอน และเล่นกับพี่เลี้ยงตามปกติ อวัยวะภายในร่างกายพบว่าลำไส้อักเสบแดงผิดปกติ สัตวแพทย์เก็บตัวอย่างอวัยวะและกระดูกส่งห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก กรมปศุสัตว์

...

น.สพ.ไพโรจน์ พรมวัฒน์ สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ลูกช้างป่าพลายตุลา มีอาการป่วยเนื่องจากยืนหลับไม่ยอมล้มตัวลงนอนติดต่อกันหลายวัน จนเกิดอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมถึงขาหลังขวาที่มีการ ก้าวเดินผิดปกติ จนเริ่มมีอาการทรุดลง ได้มีการระดมทีมสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงานมารักษาและอนุบาลพลายตุลาอย่างใกล้ชิด กระทั่งวันที่ 13 ส.ค. เวลา 04.00 น. สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าช่วยลูกช้างป่าพยุงตัวลุกยืน ก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่าพลายตุลามีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง (metabolic bone disease) หลังจากนั้นสัตวแพทย์ได้รักษาโรคกระดูกบาง รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามอาการของการใช้ขาของลูกช้างมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบว่าลูกช้างป่าไม่สามารถลุกยืนได้จากการนอนในเวลากลางคืน ได้ช่วยเหลือด้วยการใช้เครนยกตัวเข้าช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้น

หลังจากนั้น สัตวแพทย์ได้ตรวจร่างกายพบว่า ขาหน้าทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง บวม ข้อเท้าขาหน้าทั้งสองมีการงอ ไม่ขยับเดิน ได้ให้ยาลดปวดลดอักเสบ และพันขาลดการปวดการอักเสบตลอดทั้งวัน พบลูกช้างป่าไม่สามารถใช้ขาช่วยพยุงตัวให้ยืนได้ ได้ให้นอนพัก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 18.00 น. วันที่ 13 ส.ค. ลูกช้างป่าเริ่มหายใจช้าลง ลิ้นเริ่มมีสีซีด มีภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลเร่งด่วน ทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจ ลูกช้างป่าไม่มีการตอบสนอง และล้มลงในเวลาต่อมา สาเหตุการตายเบื้องต้นเกิดจากภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ข้างหัก (Humerus fracture) ทำให้เกิดสภาวะช็อกจากการบาดเจ็บรุนแรงตามมา (Pain shock)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ยังมี “พังมีนา” ลูกช้างป่าเพศเมียกำพร้าแม่อีกหนึ่งตัว อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับพลายตุลา นายเผด็จ ลายทอง ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 (ศรีราชา) พร้อม สพ.ญ.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า พังมีนามีความแข็งแรงขึ้นมาก แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรที่จะพากลับคืนสู่ธรรมชาติ จากที่เคยมีความพยายามจะนำเข้าโขลงช้างมาแล้ว แต่เชื่อมั่นว่าไม่ยากเพราะแตกต่างกับพลายตุลาที่ป่วยด้วยโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ ทำให้โขลงช้างป่าไม่ยอมรับร่วมโขลงถึงแม้ปกติแล้วแม่ช้างจะรักและหวงแหนลูกช้างมากก็ตาม เพราะจะเป็นภาระในการดำรงชีวิตตามวิถีสัตว์ป่า