แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้า ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบตได้เพียง 3% ลดลงจากที่คาดการณ์ไปก่อนหน้านี้ แต่เศรษฐกิจในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางกลับเติบโตแบบพุ่งกระฉูดเลยทีเดียว ข้อมูลจาก องค์การท่องเที่ยวโลก ระบุว่า ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 900 ล้านคน แต่ก็แค่ 63% ของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด 3 เดือนแรกปีนี้ 2566 มีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศกว่า 235 ล้านคน เพิ่มขึ้นสองเท่าจากไตรมาสแรกปีก่อน ส่งผลให้ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินพุ่งขึ้นแพงมาก คาดว่าจะแพงยาวไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากเที่ยวบินไม่เพียงพอ
แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ยั่น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดว่า กำไรของอุตสาหกรรมการบินปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,800 ล้านดอลลาร์ กว่า 343,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรเพียง 4,700 ล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยวมองว่า การเดินทางท่องเที่ยว ยังเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของมนุษย์ แทนการจับจ่ายซื้อหาสิ่งของของผู้คนทั่วโลก แม้เงินเฟ้อทั่วโลกจะพุ่งขึ้นสูง แต่การเดินทางในปีที่แล้วและต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ คุณวิลลี วอลซ์ ผู้อำนวยการไออาต้า คาดว่า รายได้ของอุตสาหกรรมการบินในปี 2566 จะเติบโตเกือบถึงระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กว่า 800,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 28 ล้านล้านบาท จาก 8.38 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562
คุณวอลซ์ กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากไม่เพียงแค่จำเป็นต้องเดินทางเท่านั้นแต่ต้องการท่องเที่ยวด้วย และจะเดินทางต่อเนื่องตลอดทั้งปี ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการจ้างงานอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคจะชะลอตัวลง แต่ผู้บริโภคก็มีความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถหาเงินมาใช้ได้ และสามารถก่อหนี้ได้บางส่วน เพื่อเพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
...
ค่าย Amadeus แพลตฟอร์มรับจองการท่องเที่ยวทั่วโลกมองว่า ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ยังคงคึกคักไปจนถึงปีหน้า จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 47% ที่เห็นว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำในปี 2566 และ 2567
ด้าน นสพ.ไฟแนนเชียล ไทม์ รายงานถึงบทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการบินล่าสุดพบว่า ราคาตั๋วเครื่องบินกว่า 600 เส้นทางทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.4% เทียบกับปีก่อนหน้า
แต่หลายเส้นทางแพงกว่านี้เยอะ เช่น กรุงเทพ-โตเกียว ตุลาคมปีที่แล้ว ผมเจอค่าตั๋วชั้นธุรกิจใบละกว่า 120,000 บาท สองเท่าก่อนโควิด เดือนที่แล้วเพื่อนซื้อตั๋วการบินไทยจะไปเที่ยวโอซาก้าต้นเดือนธันวาคม ชั้นธุรกิจใบละกว่า 79,000 บาท พอถัดไปอีกสัปดาห์เพื่อนอีกคนซื้อราคาเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 บาท สัปดาห์เดียวราคาตั๋วเพิ่มขึ้นไปหมื่นกว่าบาท จึงไม่แปลกใจที่ การบินไทย แถลงผลกำไตรมาส 2 ปีนี้พุ่งขึ้นถึง 2,261 ล้านบาท
เศรษฐกิจที่บ่นว่าไม่ดี แต่คนไทยก็บินไปเที่ยวเมืองนอกกันเป็นว่าเล่น และเที่ยวในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ เปิดเผยว่า ปีนี้ไทยขาดดุลท่องเที่ยวกับญี่ปุ่นเป็นปีแรก 6 เดือนแรกคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเกือบ 5 แสนคน คนญี่ปุ่นมาเที่ยวไทย 3 แสนกว่าคน คาดกันว่า ปีนี้จะมีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเกิน 1 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มาเที่ยวไทยเยอะขึ้น 7 เดือนแรกปีนี้กว่า 15 ล้านคนแล้ว อันดับ 1 มาเลเซีย อันดับ 2 จีน ที่เริ่มมามากขึ้น อันดับ 3 เกาหลีใต้ อันดับ 4 อินเดีย อันดับ 5 รัสเซีย
นักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่าย ส่วนใหญ่เป็น “ชนชั้นกลาง” แต่ไทยยังมีชั้นกลางน้อย ก็หวังว่า รัฐบาลใหม่ จะหันมา “สร้างชนชั้นกลาง” ให้มากขึ้น เพื่อให้พ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ที่ผ่านมา 9 ปี ชนชั้นกลางไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแต่คนจนที่เพิ่มขึ้นมากจนตกใจ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”