นักวิชาการ แนะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ด้วยการเพิ่มคะแนน Cigarette Tax Scorecard พร้อมวางแผนระยะปานกลางถึงยาว เพื่อปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชัดเจน

วันที่ 11 ส.ค. 66 จากกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมแผนปฏิรูปภาษีสรรพสามิต เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหนึ่งในภาษีสรรพสามิตที่มีปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2560 คือภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีในระบบผสม คือ 1. ภาษีตามปริมาณอัตรา 1.25 บาท ต่อมวน และ 2. ภาษีตามมูลค่า แบ่งเป็น 2 อัตรา โดยบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำน้อยกว่า 72 บาท คิดภาษีตามมูลค่าในอัตราร้อยละ 25 แต่หากราคาขายปลีกแนะนำเกินกว่า 72 บาท จะถูกคิดภาษีที่อัตราร้อยละ 42  

ทั้งนี้ ภาษียาสูบ นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญ 1 ใน 5 อันดับแรก ของกรมสรรพสามิต โดยในช่วงปีงบประมาณ 2561-2565 รายได้ภาษียาสูบค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง เหลือเพียง 59,784 ล้านบาท ในปี 2565 ขณะที่ทิศทางจำนวนผู้บริโภคยาสูบ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ในระดับทรงตัว ประมาณ 10 ล้านคนต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2560 ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมและประสิทธิภาพของโครงสร้างอัตราภาษีในปัจจุบัน ที่มีการใช้ภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตราสำหรับสินค้าบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2560

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยกงานวิจัยล่าสุดที่วิเคราะห์ข้อมูลจาก Cigarette Tax Scorecard ของ Tobacconomics ศูนย์วิจัยภายใต้มหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ ณ นครชิคาโก และข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เพื่อหาความเชื่อมโยง โดยใช้กลุ่มประเทศตัวอย่างทั้งหมด 70 ประเทศ (ไม่รวมไทย) และพบว่า คะแนนรวมของ Cigarette Tax Scorecard มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบต่อหัว โดยหากมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้น 1 คะแนน จะสามารถเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบต่อหัวได้ 11.98 International Dollars และหากเพิ่มคะแนนรวมได้เป็น 5 คะแนนเต็ม จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบต่อหัวได้ร้อยละ 22.51 งานวิจัยดังกล่าวจึงเน้นย้ำว่าการเพิ่มคะแนนด้านต่างๆ ของ Cigarette Tax Scorecard เป็นเครื่องมือที่จะสามารถช่วยให้รัฐบาลต่างๆ สามารถเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ได้

...

โดยคาดว่า การประเมินระบบภาษีบุหรี่ หรือ Cigarette Tax Scorecard ในปี 2563 มีหลักเกณฑ์การประเมิน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ราคาบุหรี่ 2. การเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อ 3. สัดส่วนภาระภาษี และ 4. โครงสร้างภาษี 

ขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนประเมินของทั่วโลกและของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อยู่ที่ 2.28 และ 1.86 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ในขณะที่ไทยได้รับการประเมินคะแนนเพียง 1.75 คะแนน โดยไทยสามารถทำได้ดีเฉพาะด้านสัดส่วนภาระภาษีซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และระดับราคาบุหรี่ แต่คะแนนในด้านโครงสร้างภาษี และการเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับอยู่ในระดับที่ต่ำ (ได้เพียง 1 คะแนน) ซึ่งคาดว่ามาจากการใช้โครงสร้างอัตราภาษี 2 อัตรา เพราะโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่มีช่องโหว่ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันลดราคาบุหรี่หรือผลิตสินค้าตัวใหม่ที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ 

ดังนั้น การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่กรมสรรพสามิตกำลังเตรียมการอยู่นี้จะถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะทำให้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของไทยมีคะแนนที่ดีขึ้น โดยหากประเทศไทยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าแบบ 2 อัตรา และเปลี่ยนมาใช้อัตราภาษีมูลค่าอัตราเดียวในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพื่อไม่ส่งผลให้สัดส่วนภาษีปริมาณน้อยกว่าภาษีมูลค่า เช่น อัตราภาษีมูลค่าที่ 25% จะทำให้ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 1 คะแนน เป็น 4 คะแนน เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

นอกจากนี้ หากมีการวางแผนภาษีบุหรี่ในระยะปานกลางถึงยาวเพื่อปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชัดเจน จะช่วยให้ได้คะแนนเต็ม 5 ตามมาอย่างในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งนอกจากจะยกระดับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลแล้ว ยังจะเป็นการวางรากฐานที่ดีในการช่วยเพิ่มรายได้ภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น.