เบญจมาศ ไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 ของพันธุ์ไม้ตัดดอกทั่วโลก ยอดการซื้อขายทั่วโลกเป็นมูลค่าสูงกว่าปีละพันล้านบาท แม้บ้านเราจะปลูกเบญจมาศตัดดอก เพื่อจำหน่ายมานานแล้ว แต่คุณภาพของดอกไม่สามารถเทียบเท่าต่างประเทศ...การปลูกเบญจมาศแนวทางใหม่จึงเกิดขึ้น ทั้งได้สายพันธุ์ใหม่ๆ และแนวทางการปลูกใหม่
“แรกเริ่มปี 2532 มีชาวบ้านคนหนึ่งอยากปลูกไม้ประดับเพื่อเป็นรายได้เสริมเพิ่มจากการทำนา จึงไปนำดอกเบญจมาศเหลืองขมิ้น ไม้พันธุ์โบราณของชุมชนกุดเป่งมาทดลองปลูกในพื้นที่ ผลปรากฏว่าครอบครัวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจึงต่างให้ความสนใจปลูกตามกัน ต่อมาพบว่ามีข้อจำกัดปลูกได้เฉพาะฤดูหนาว จึงลองปลูกสายพันธุ์อื่นบ้าง แต่ต้องเจอปัญหาดินที่เสื่อมสภาพลงทุกวัน โรคแมลงสะสม ส่วนต้นพันธุ์ที่ใช้อยู่ อ่อนแอต่อโรคเข้าทุกขณะ เพราะขาดการพัฒนาสายพันธุ์ ภาครัฐจึงเข้ามาช่วย ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก วิจัยสายพันธุ์เดิมให้ปลูกง่าย ทนต่อโรคแมลง ออกดอกสม่ำเสมอทั้งปี รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ที่สีสันสวยงามแปลกตา”
...
นภัสวรรณ เมณะสินธุ์ แห่งสวนเบญจมาศนภัสวรรณ บ้านตาติด ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ปรึกษายังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จ.อุบลราชธานี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศและแปลงใหญ่ไม้ดอก บ้านตาติด บอกถึงที่มาของการปลูกเบญจมาศที่มีมากว่า 30 ปี จนกลายเป็นหมู่บ้านไม้ประดับบ้านตาติด ดังคำขวัญ “ไม้ดอกอันเลื่องลือ ขึ้นชื่อปลาแซบหลาย มากมายป่าเบญจพรรณ ศักดิ์สิทธิ์นั่น ดงปู่ตา”
หลังรับทราบปัญหาของชาวบ้าน ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คัดเลือกต้นพันธุ์ดั้งเดิมจากในแปลงนำไปเข้าห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพปลอดเชื้อ และนำมาขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ส่งมอบพันธุ์ปลอดโรคให้แก่เกษตรกร
พร้อมนำองค์ความรู้ด้านปุ๋ยมาประยุกต์ใช้ร่วมกับต้นพันธุ์เบญจ มาศปลอดโรค พัฒนาปัจจัยการผลิตและการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง วว. ควบคู่กับเทคนิคการปลูกใหม่ๆ อาทิ การปลูกในดินคุณภาพสูงจากวัสดุปลูกต่างๆที่หาได้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นขุยมะพร้าว แกลบดำ กากมันหมัก ผสมกับดินใบก้ามปู รวมถึงเทคนิคการเด็ดยอดปักชำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต จนสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ถึง 30%
นอกจากพัฒนาสายพันธุ์ดั้งเดิมให้ปลูกง่าย ปลอดโรค ทนต่อโรคแมลง ให้ดอกสม่ำเสมอทั้งปีแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาเบญจมาศพันธุ์ใหม่ โดยรวบรวมพันธุ์เบญจมาศจากแหล่งต่างๆ ในหลายพื้นที่มาคัดเลือกพันธุ์ ทำการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการแล้วพัฒนาสายพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า “ทิสเอนอาร์ซีที 01” (TISTR–NRCT 01) มีลักษณะเป็นแบบดอกซ้อน ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.2-4 ซม. กลีบดอกชั้นนอกมีประมาณ 6 ชั้น มีลักษณะเด่นเป็นสีแดงอิฐ บริเวณกลางดอกมีไส้อัดแน่นขนาดเล็กสีเหลือง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมองไม่เห็นไส้กลางดอกและสีกลีบดอกจะซีดลง
...
ปัจจุบันมีการสร้างกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็ง ยกระดับภาคเกษตรให้เป็นธุรกิจที่สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ผลิตไม้ดอกแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการทำแปลงปลูก เพาะกล้าพันธุ์ และส่งไม้ดอกไปในภาคธุรกิจ จนสามารถยกระดับเป็นโอทอป และ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านตาติด สนใจสอบถามได้ที่ 06-3512-9229.
กรวัฒน์ วีนิล
คลิกอ่านข่าวเกษตรเพิ่มเติม