การตรวจวัดหาสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นสิ่งที่สำคัญมากในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องปราศจากสารพิษตกค้าง แต่การตรวจสอบมักทำได้แม่นยำในระดับห้องปฏิบัติการ การตรวจระดับในพื้นที่ก็ยังมิใคร่มิความแม่นยำนัก ที่สำคัญของเสียที่ได้จากการตรวจส่วนใหญ่ก่อให้เกิดมลพิษ งานวิจัย “LUMOS-ลูมอส เทคโนโลยีตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ” จึงเกิดขึ้น
“กลุ่มวิจัยได้ริเริ่มพัฒนา ลูมอส เทคโนโลยีตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ จากห้องปฏิบัติการ โดยใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้และเปลี่ยนสารพิษตกค้างในกระบวนการอุตสาหกรรมและการเกษตร ให้เป็นสารที่มีมูลค่า เช่น สารกลุ่มลูซิเฟอริน ที่เรืองแสงได้เช่นเดียวกับหิ่งห้อย และพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีตรวจวัดสารพิษกลุ่มฟีนอล สารกำจัดศัตรูพืช และจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสู่เครื่องมือตรวจสอบแบบพกพา”
ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี อธิบายถึงนวัตกรรมใหม่ ลูมอส เทคโนโลยีตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ...หลังจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาลูมอสในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดจนไปถึงผู้ใช้งานจริง โดยออกแบบเครื่องมือตรวจวัดแบบพกพา และชุดน้ำยาตรวจวัดลูมอส สำหรับการใช้งานนอกห้องปฏิบัติการได้ง่าย ไม่ซับซ้อน บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ รวมถึงเป็นชุดตรวจวัด เพื่อคัดกรองผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และติดตามการปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตรและอุตสาหกรรมในสิ่งแวดล้อมได้
...
ทั้งนี้ชุดตรวจสอบดังกล่าวมีความปลอดภัย แสดงผลแม่นยำ รวดเร็ว บอกช่วงความเข้มข้นของสารเคมีปราบศัตรูพืชปนเปื้อนได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน พกพาสะดวก เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงง่าย กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานควบคุมการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช สำหรับสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร ผัก ผลไม้ หรือตัวอย่างสิ่งแวดล้อม
การใช้งาน...อุปกรณ์ประกอบไปด้วย น้ำยาสกัด เอนไซม์ย่อยสลายสารพิษ และเอนไซม์ตรวจวัด เริ่มที่นำผักหรือผลไม้ที่จะตรวจวัดใส่ในภาชนะ เติมน้ำเพื่อใช้ในการล้างพืชผัก จากนั้นเติมน้ำยาสกัดตามลงไป แล้วผสมน้ำยาเอนไซม์ย่อยสลายสารพิษตามลงไป อันดับต่อมาให้เติมน้ำยาเอนไซม์ตรวจวัด เพื่อตรวจดูแสงที่เกิดขึ้น รอการทำปฏิกิริยา 30 นาที หากมีสารเรืองแสงแสดงว่าเป็นอันตราย อยู่ในเกณฑ์มีการปนเปื้อน หากไม่เรืองแสงแสดงว่าปลอดภัย
ศ.ดร.พิมพ์ใจ บอกต่อไปว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีลูมอสได้นำไปใช้จริงในชุมชนตำบลปงสนุก จ.น่าน เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้า ในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ และดินในพื้นที่การเกษตร เพื่อเฝ้าระวังการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินขนาด ภายใต้โครงการเซียน (CAIN: Circular Innovation for Nan) โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้ตรวจพืชผักผลไม้ในพื้นที่ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ของเกษตรกร โดยการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และมีตรารับรองความปลอดภัยของสินค้า ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น จากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนช่วยให้ชุมชนเกษตรกรรมเฝ้าระวังการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเกินขนาด และคัดกรองสินค้าที่ปลอดภัยส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลางและผู้บริโภค เกิดเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านสถาบันวิทยสิริเมธี และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ภายใต้บริษัท สตาร์ตอัพ ไบโอซินไทย ไบโอเทคโนโลยี จำกัด จนได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก และ ดร.ปรัชญา แวทไธสง หนึ่งในทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยี โครงการนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์โลก ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมถึงการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ.
...
กรวัฒน์ วีนิล
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม