รถบัส 4 คัน นำเด็ก 126 คนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทอง มาจอดที่ลานจอดรถหน้าสถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ในช่วงเย็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เพื่อเตรียมผลักดันกลับประเทศพม่าเพราะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

นายตำรวจใหญ่จากส่วนกลาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเจ้าหน้าที่ต่างมาอำนวยความสะดวก

แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่ได้คาดไว้คือ จู่ๆก็มีนักข่าวและคนทำงานด้านสิทธิการศึกษาและสถานะบุคคล เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วยความบังเอิญ...เนื่องจากในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพเข้าไทยด้านตะวันตก และได้เชิญ กสม. นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรต่างๆเข้าร่วม หลายคนที่เดินทางมาก่อน เมื่อทราบข่าวเด็ก 126 คน จึงไปร่วมสังเกตการณ์

นายตำรวจใหญ่ได้ชักชวนให้นักสังเกตการณ์เหล่านี้เข้าไปยังห้องประชุม โดยมีการชี้ข้อมูลต่างๆในการดำเนินการผลักดันเด็กครั้งนี้ ที่สำคัญคือได้พยายามกำชับนักข่าวไม่ให้ถ่ายภาพเด็กโดยอ้างข้อกฎหมายของ กสทช. ซึ่งนักข่าวเองได้ชี้แจงเรื่องการถ่ายภาพเด็กนั้นเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ต่างทราบกันดีอยู่แล้ว

...

แต่ที่น่าแปลกใจมากคือเจ้าหน้าที่ของ พม.กีดกัน แม้กระทั่งการถ่ายภาพรถบัสที่นำเด็กมา...เกิดคำถามสำหรับนักข่าวขึ้นว่า หรือมีอะไรที่ปกปิดมากกว่านั้น?

แม้คำอธิบายต่างๆเกิดขึ้นจากปากนายตำรวจใหญ่ แต่เรื่องการเอาเด็กนักเรียนออกจากระบบกลางคันซึ่งขัดแย้งกับหลักการใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ รวมถึงการจัดส่งเด็กกลับไปยังประเทศพม่าเป็นการให้ความคุ้มครองและดูแลเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่ง “พม.” ถือกฎหมายฉบับนี้อยู่ ยังไม่มีความกระจ่าง

ขณะที่มุมมองของนักการศึกษาและนักสิทธิมนุษยชนในวันนั้น ทำให้ทิศทางข่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการส่งเด็กกลับของหน่วยงานรัฐครั้งนี้มีความไม่เหมาะสมด้วยหลายเหตุผล...ยิ่งเมื่อมีการสืบค้นข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น ทำให้พบว่าเด็กทั้ง 126 คน และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กำลังตกอยู่ในกระแสของการสร้างผลงาน มากกว่าคำนึงถึงหลักการมนุษยธรรม

ในปัจจุบันในประเทศไทยมีเด็กนับแสนคนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร แต่กระทรวงศึกษาฯออกรหัส G ให้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นคน (ตัวเลขจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ) โดยเรียนอยู่ตามโรงเรียนต่างๆทั้งในจังหวัดชายแดน และจังหวัดชั้นในที่เป็นเขตอุตสาหกรรมซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกนับหมื่นที่ติดตามพ่อแม่หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์มาอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันตก ซึ่งหน่วยงานราชการไทยบางแห่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่เมื่อมีการดำเนินคดีกับ นางกัลยา ทาสม ผอ.และบุคลากรด้านการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6

...ได้ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งไปถึงหน่วยงานและผู้ที่รับเอาเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรไว้ดูแลให้การศึกษา เพราะต่างรู้สึกหวาดหวั่นว่าอาจถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน

10 กรกฎาคม 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล พร้อมคณะมาประชุมหารือที่เชียงรายถึงแนวทางปฏิบัติ...ในที่ประชุมได้มีการทักท้วงเรื่องการส่งเด็ก 126 คนกลับพม่า ทำให้มีความพยายามหาทางออกด้วยการชะลอการส่งกลับและหาโรงเรียนให้เด็ก แต่คล้อยหลัง....การผลักดันเด็กๆ กลับพม่ายังดำเนินการต่อไป จนกระทั่งเหลือเด็กเพียง 4 คนที่พ่อแม่ไม่มารับ เพราะเป็นผู้หนีภัยการสู้รบในพม่า ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้

ระหว่างนี้เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐกลุ่มนี้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อนทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ แม้กระทั่งสภาทนายความก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องคดีความ

รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสถานะบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า พม่าไม่ใช่ดินแดนที่ปลอดภัยและไม่มีโรงเรียนที่ดีให้เด็กๆ

...

หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นเรื่องแรกที่ต้องถามว่า การอพยพเด็กออกจากโรงเรียนที่อ่างทองและส่งกลับที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านเชียงราย เป็นความคิดที่ถูกต้องต่อหลักกฎหมายหรือไม่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ของรัฐไทยรอตอบคำถามในเวทีระหว่างประเทศต่างๆได้เลย

“เราเคยเห็นเด็กไร้สัญชาติจากพม่าจำนวนมากที่จบการศึกษาที่อ่างทองก็มาเรียนที่ธรรมศาสตร์ แล้วกลับไปพัฒนาพม่าในยุคของนางอองซาน ซูจี แต่ก็ต้องกลับมาประเทศไทยอันเนื่องมาจากการรัฐประหารในพม่า ดังนั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้แก่เด็ก

...กฎหมายคุ้มครองเด็กในระดับพระราชบัญญัติและในระดับอนุสัญญาก็เข้มแข็งมากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ทำลายโอกาสทางการศึกษาในครั้งนี้ของเด็กๆ” รศ.พันธุ์ทิพย์ว่า

นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ ย้ำว่า เรื่องที่คาใจคนสอนกฎหมายมากคือ มีความตกลงในเสาหลักอาเซียนทางสังคมและวัฒนธรรมในเรื่องการพัฒนาเด็กอาเซียน ดังนั้นก่อนจะอพยพเด็กจากอ่างทองนั้น คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่อ่างทอง มีโอกาสคิดถึงพันธกรณีตามกฎบัตรอาเซียนนี้หรือไม่?

“มีหลายคำถามทางกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ควรตอบ การรีบผลักเด็กออกไปให้พ้นหูพ้นตา ไม่ใช่ผลงานที่ดี แต่การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนอย่างที่ทำกันในช่วง พ.ศ.2553 เป็นต้นมา จะดีกว่า จึงควรทบทวน”

ขณะที่ เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ. มองว่า ตั้งแต่ได้เข้ามาร่วมในการคุ้มครองแก้ปัญหา เด็ก 126 คน สรุปปัญหาได้ 2 ประเด็นคือ 1.ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ถูกแจ้งความในข้อหานำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายและให้ที่พักอาศัย รวมถึงถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยฐานทำผิดร้ายแรง 2.เด็กนักเรียน 122 คนถูกส่งกลับไปหาผู้ปกครองในพม่า

...

...ต้องหยุดการเรียนตั้งแต่ต้นมิถุนายน 2 เดือนแล้วที่เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา

เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”
เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”

ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แสดงความรับผิดชอบดังนี้ หนึ่ง...ยกเลิกการแจ้งความและการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นางกัลยาและคืนตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ให้ สอง...ดำเนินการให้เด็ก 126 คนเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาในโรงเรียนที่เด็กและผู้ปกครองพอใจ

สาม...คืนชีวิตโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยนายกำพล วัชรพล มีอาคารสถานที่กว้างขวาง น่าอยู่ น่าเรียน ให้กลับมามีชีวิตชีวาตามเดิม โดยนำนักเรียนที่ประสงค์จะกลับมาเรียนที่นี่ได้ กลับมาเรียน...“การตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้จะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คณะครูและนักเรียนในสังกัด สพฐ. และศูนย์การเรียนในจังหวัดชายแดนทั่วประเทศอีกหลายร้อยแห่ง นักเรียนนับแสนคน ให้เชื่อมั่นในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เด็กกลุ่มเปราะบาง ให้ได้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทยและโลกต่อไป”

...

ปัจจุบันแม้เด็กนักเรียน 126 คนถูกส่งกลับไปพม่าแทบทั้งหมด แต่บางส่วนจำเป็นต้องกลับเข้ามายังประเทศไทยแล้ว เพราะวิถีชีวิตของเด็กชายแดนต่างเข้า-ออกตามพ่อแม่อยู่เป็นประจำ เด็กบางส่วนได้ที่เรียนแห่งใหม่ แต่ส่วนใหญ่ที่ยังต้องการเรียนแต่ไม่ได้เรียน เพราะความยากไร้ และไม่มีใครโอบอุ้ม

การถูกตัดโอกาสทาง “การศึกษา” ถือว่าเป็นคราวเคราะห์ครั้งใหญ่ที่หมายถึงอนาคตของพวกเขา ถามว่า...ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม