“วิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเราอย่างมาก เพราะทุกสังคมมีรากฐานที่ปรับเปลี่ยนมาจากอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และพัฒนาต่อไปในอนาคต วิชาประวัติศาสตร์เน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมประสบการณ์และการสร้างสรรค์ของมนุษย์และสภาพสังคมแวดล้อมในแต่ละสมัย”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเอกสารคำสอนว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ที่ทรงใช้สอบ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญออกเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง

ในการประชุมของผู้บริหารไทยรัฐวิทยาครั้งที่แล้ว (ครั้งที่ 40 ประจำปี 2565 ที่จังหวัดอุดรธานี) ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการตัดสินใจที่จะเพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ให้แก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ก็ได้จัดพิมพ์และ อัญเชิญพระราชนิพนธ์ส่วนนี้มาเป็นบทนำของเอกสารที่ประกอบการสัมมนา

ในการประชุมดังกล่าว ท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม ประธานในพิธีเปิดได้กล่าวในคำบรรยายพิเศษเน้นถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

“ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องราวในอดีตที่มีหลักมีฐานชัดเจน แต่ถ้าไม่ชัดเจนเช่นของไทยว่าอย่างหนึ่ง ของจีนว่าอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบหรือบอกให้รู้ล่วงหน้าไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการใช้วิจารณญาณต่อไป”

“ผมจำได้ว่าหลังจากเรียนวิชาอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะจนรู้สึกว่าเราจะออกไปว่าความหรือไปใช้วิชากฎหมายในอาชีพต่างๆได้แล้ว ก็มีอาจารย์หลายท่านมาบอกว่าพวกเธอจะออกไปเป็นนักกฎหมายที่ดีไม่ได้ดอกถ้าไม่ได้เรียนและไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์กฎหมาย”

“ทำให้นักศึกษาบางคนร้องเรียนกับอาจารย์ว่าผมจะเรียนกฎหมายเพื่อเป็นนักกฎหมายในปัจจุบันและอนาคตนะครับทำไมต้องไปรู้เรื่องที่เกิดในอดีตเมื่อ 100-200 หรือ 300 ปี ก่อนโน้นด้วย”

...

“ผมจำได้ว่ามีคนถามประเด็นนี้และท่านคณบดีสมัยที่ผมเรียนท่านศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านก็ตอบว่า...เพราะเธอคิดแต่จะมองอนาคต แต่ไม่รู้จักเหลียวหลังไปมองในสิ่งที่เป็นอดีต วันหนึ่งเธอเองอาจจะทำเรื่องในอนาคตพลาดได้”

“เพราะสิ่งที่เธอนึกว่าเป็นเรื่องใหม่ และกำลังจะคิดทำในอนาคตนั้นบางเรื่องอาจเป็นเรื่องเก่าที่เคยคิดทำกันมาแล้ว แล้วเกิดความล้มเหลวซึ่งถ้าเธอเรียนรู้ในอดีตด้วยก็จะรู้จักประยุกต์ให้รู้วิธีหลบเลี่ยงความผิดพลาดมิให้เกิดขึ้นอีก”

“ไม่ใช่แต่วิชากฎหมายเท่านั้น วิชาอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ หรือศาสตร์ใดๆก็ตาม เขาต้องสอนประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องนั้นเสมอๆ เพื่อให้รู้กำพืดรู้สาแหรกและความเป็นมาในอดีตของแต่ละวิชานั้นเป็นอย่างไร?”

ผมนั่งฟังท่านรองนายกวิษณุบรรยายอยู่ด้วย จำได้ว่าพยักหน้าหงึกๆถึง บางอ้อขึ้นมาโดยพลันว่าเราเองในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ก็ถูกบังคับให้เรียนวิชา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ด้วย และเรียนไปบ่นไประหว่างเป็นนักศึกษา เพราะทั้งยากทั้งชวนให้ปวดหัวแถมน่าเบื่อหน่ายอีกด้วย

จนกระทั่งเติบใหญ่ออกไปทำงานและไปต่อเมืองนอก ด้านเศรษฐกิจถึงได้รู้ว่าวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจนั้นสำคัญจริงๆ

ตัวอย่างที่ ดร.วิษณุเล่าถึงนักศึกษากฎหมายไม่ค่อยอยากเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายก็ดี หรือของตัวผมเองและเพื่อนๆสมัยเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ไม่อยากเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจก็ดี สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของนักเรียนทั่วๆไปในโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศไทยของเราด้วย

ก็คงจะรู้สึกว่าเรียนไปทำไม? ของเก่าร้อยปีพันปีไม่เห็นมีประโยชน์จึงโดดเรียนบ้าง เรียนไปหลับไปบ้าง จนวิชา ประวัติศาสตร์ ที่เคยเป็นวิชาโดดเด่นแยกออกมาให้เรียนต่างหากถูกซุกกลับไปในหมวดวิชาสังคมศึกษา จนถูกมองว่าลดความสำคัญลง

นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะเราไม่ให้ความสำคัญแก่วิชาประวัติศาสตร์ นี่เอง...ทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่ขาดความรู้วิชาประวัติศาสตร์และส่งผลไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อชาติไทยหรือสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางลบมากขึ้น

จนเป็นสาเหตุที่จะต้องกลับมาช่วยกันฟื้นฟูและให้ความสำคัญกันอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.นี้...รวมทั้งที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่ง ของเราที่พร้อมจะกลับมาฟื้นฟูการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ...ดังที่เราหยิบไปเป็นหัวข้อสัมมนาที่สงขลานี่แหละครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม