ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมามีข่าว เล็กๆ แต่สะเทือนลึกในแวดวงสิทธิมนุษยชนของไทยและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ที่สำคัญกำลังถูกจับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในปีกที่เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม

ข่าวเล็กๆดังกล่าวคือ กรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยร่วมกันผลักดันส่งเด็กนักเรียน 126 คน ซึ่งไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศพม่า

เริ่มต้นข่าวชิ้นนี้ถูกประโคมว่ามีเครือข่ายการค้ามนุษย์ได้นำพาเด็กนักเรียนจากประเทศพม่ามาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 และมีความพยายามขุดคุ้ยเพื่อให้เป็นไปในแนวทางนี้ให้ได้ ประกอบกับเมื่อเรื่องนี้เริ่มโด่งดังทำให้ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) ที่มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เข้ามาทำคดี ทำให้โจทย์เรื่องการค้ามนุษย์ถูกทำให้จริงจังขึ้น

ขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิใดๆหรือไม่ ย่อมได้เรียนหนังสือ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่มุ่งคุ้มครองเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ กลายเป็นกฎหมายอันดับรองที่ไม่ถูกนำมาใช้เท่าที่ควร ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน

...

ขณะที่บุคลากรของโรงเรียนถูกตั้งข้อหานำพาและให้ที่พักพิงเด็กต่างด้าว

เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการนำเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรมาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ในครั้งนี้ จะทำให้เข้าใจว่าทำไมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ถึงดังกระหึ่มไปทั่ววงการสิทธิมนุษยชนไทย...เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นางกัลยา ทาสม หรือ “ครูปุ๊” ได้รับการบรรจุในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 โดยในตอนนั้นมีเด็กนักเรียนอยู่เพียง 12 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนประถม 6

หากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 คงไม่สามารถอยู่ได้และถูกยุบในที่สุดตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

ปัญหาโรงเรียนขาดแคลนเด็กนักเรียนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ทั่วประเทศและที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ก็ประสบปัญหานี้มาหลายปี วิธีการแก้ปัญหาคือการรับเด็กด้วยโอกาสกลุ่มต่างๆ มาเรียนโดยเฉพาะเด็กบนดอยและตามชายแดนต่างๆ

“เมื่อมีนาคม 2565 เราได้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เพื่อหาทางออกครั้งนี้ และมีมติว่าให้ไปหาเด็กนักเรียนในพื้นที่ชายขอบ หรือเด็กยากไร้ในพื้นที่จังหวัดน่านและเชียงราย มาเรียนหนังสือ หลังจากนั้น เราได้เอารถกระบะเดินทางไปที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อลงพื้นที่แสวงหาเด็กโดยฝากใบสมัครเอาไว้ตามบ้าน” ครูปุ๊ เล่าจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปรับเด็ก เนื่องจากเธอเป็นคนเชียงราย จึงทำให้รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นครูปุ๊และกรรมการโรงเรียนไทยรัฐ 6 ได้เดินทางไปรับเด็กจำนวน 35 คนในจังหวัดเชียงรายโดยครูปุ๊ได้ดำเนินการขออนุมัติรหัส G จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสด้านการศึกษาและงบประมาณสนับสนุน และได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อรับทราบ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อนำรายได้สำหรับจ้างครูอัตราจ้างและนักการภารโรงเพิ่มเติม เนื่องจากตอนนั้นเหลือครูที่เป็นข้าราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 1 คนและนักการภารโรง 1 คน

การรับเด็กในปีแรกผ่านไปอย่างราบรื่น โดยเด็กๆได้รหัส G ถูกต้องตามระเบียบราชการ

ในปีการศึกษาใหม่ ประจำปี 2566 ครูปุ๊ พร้อมกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการรับเด็กจากพื้นที่ชายขอบและยากไร้เข้ามาเรียนเพิ่ม แต่ในปีนี้ข่าวได้รับการเผยแพร่จากปากต่อปากไปไกลกว่าเดิมเพราะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้มีเด็กๆ สมัครใจขอไปเรียนที่จังหวัดอ่างทอง จำนวน 92 คน โดยเป็นเด็กที่ไม่เคยเรียนมาก่อน 72 คน และเป็นเด็กที่ย้ายจากโรงเรียนอื่น 20 คน

...

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ครูปุ๊ พร้อมคณะกรรมการสถานศึกษาฯได้เดินทางไปรับเด็กๆโดยรถบัสแต่ด้วยปริมาณเด็กที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากที่ตั้งเป้าไว้ 40 คน ทำให้ต้องเช่ารถบัสที่จังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน

เด็กใหม่จำนวน 92 คนถูกรับตัวมาไว้ที่บ้านพักในจังหวัดอ่างทองเหมือนเช่นเคย และกระบวนการขอรหัส G ให้เด็ก 72 คน ก็เป็นไปในลักษณะเดิม

แต่มีบางอย่างกลับไม่เหมือนเดิม

เค้าลางเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีครูธุรการคนหนึ่งไม่พอใจที่ต้องมาเข้าเวรเฝ้าเด็กที่หอพัก...

“ตอนนั้นครูทุกคนต่างผลัดเวรกัน แต่ครูคนนี้ไม่พอใจเพราะคิดว่าทำงานเกินหน้าที่ เขาบอกว่าจะแจ้งให้ผู้ใหญ่ในเขตพื้นที่การศึกษาทราบ แต่เราก็ไม่คิดว่ามีอะไรใหญ่โตอะไร เพราะเราทำทุกอย่างถูกต้อง”

ครูปุ๊ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ละเมิดสิทธิเด็กครั้งใหญ่

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทองและคณะได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 และได้สอบถามถึงการเรียนการสอน พร้อมทั้งเยี่ยมนักเรียนและขอดูบ้านพักที่เด็กๆ อาศัย...วันที่ 2 มิถุนายน คณะเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ปลัดอำเภอป่าโมก เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมจังหวัดอ่างทอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้เดินทางมาร่วมประชุมที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 พร้อมทั้งมีมติให้ส่งเด็ก 126 คนกลับพื้นที่ต้นทาง

...

พอวันที่ 6 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ สารพัดหน่วยงาน รวมทั้งสื่อมวลชนได้ยกทัพมาที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 สร้างความตกใจให้กับเด็กๆที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ โดยเขาได้มีการแยกเด็กๆ 126 คนไปไว้ที่มูลนิธิอีกที่หนึ่ง ส่วนครูปุ๊ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ

ข่าวถูกประโคมเชิงลบในทำนองว่ามีการนำพาเด็กต่างด้าวมาเรียนหนังสือที่จังหวัดอ่างทอง

นับจากวันนั้นเป็นต้นมาเด็ก 126 คนต้องออกจากการศึกษาอย่างฉับพลัน แม้ระหว่างนั้นจะมีการจัดครูมาสอนให้ แต่เป็นเพียงแค่ประวิงเวลาเพื่อรอการส่งกลับ เพราะไม่ได้มีการเรียนการสอนตามระบบ

“ตอนนั้นดิฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามขอความช่วยเหลือไปทุกๆ ที่ที่คิดว่าช่วยได้ ทั้งสภาทนายความจังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอ่างทอง เพราะเราต้องการให้ช่วยเหลือเด็ก อยากให้พวกเขาได้เรียนต่อ แต่ได้รับการตอบรับน้อยมาก มีเพียง กสม. เท่านั้นที่ทำหนังสือขอให้ชะลอการส่งตัวเด็กกลับ” ครูปุ๊เล่าถึงสถานการณ์ในวันที่แสนเลวร้าย

...

“ตอนนั้นเด็กๆอยากเรียนต่อ เขาถามว่าทำไมไม่ให้เรียน เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ก่อนพวกเขาถูกส่งกลับ ดิฉันได้ขออนุญาต พมจ.ไปเยี่ยม เสียงร้องไห้กันกระจองอแงเต็มไปหมด แต่ในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับไปตั้งแต่ตี 4 วันที่ 5 กรกฎาคม” ครูปุ๊ เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์วันนั้น

เด็กๆทั้ง 126 คนซึ่งเป็นทั้งเด็กใหม่และเด็กเก่าถูกมาตรการเหวี่ยงแหผลักดันกลับประเทศพม่า โดยไม่มีการแยกแยะว่าเด็กบางส่วนได้รับ รหัส G แล้ว เด็กบางส่วนเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนฝั่งไทย ที่สำคัญคือไม่มีการเตรียมการให้เด็กได้เรียนต่อ คิดเพียงแค่เร่งผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้กลับพม่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม

พรุ่งนี้ว่ากันต่อถึงผลที่จะตามมาจากวิธีการแก้ปัญหาครั้งนี้ของหน่วยงานราชการ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม