ผมมีภารกิจที่จะต้องไปต่างจังหวัดอีก 2-3 วัน ในสัปดาห์นี้ และจำเป็นจะต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้าทิ้งเอาไว้เช่นเคย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องราวแห้งๆที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละวัน

ส่วนใหญ่ผมมักจะใช้วิธีเขียนเป็น “ซีรีส์” คือเรื่องเดียวกันประมาณ 4-5 วันจบ ล่าสุดได้แก่ “น่านแซนด์บ็อกซ์” เกี่ยวกับการลงไปช่วยเหลือจังหวัดน่าน แก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และทำลายต้นนํ้าของคุณ บัณฑูร ลํ่าซํา อดีตผู้บริหารสูงสุด ของ ธนาคารกสิกรไทย

เรตติ้งดีพอสมควรเชียวละครับ สำหรับซีรีส์คุณบัณฑูร

มาถึงงวดนี้ผมจะไปร่วมประชุมสัมมนากับคณะผู้บริหาร โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 111 แห่ง ที่ โรงแรมลากูน่าแกรนด์ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งหัวข้อการประชุมไว้ว่า “ประวัติศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ” ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคมนี้

อย่ากระนั้นเลย เรามาเขียน “มินิซีรีส์” ว่าด้วยความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์กันดีกว่า เริ่มจากวันนี้ซึ่งจะเป็นเรื่องทั่วๆไปของการประชุมสัมมนาครั้งที่ 41 ของเรา และจะเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัว เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามหัวข้อที่ตั้งไว้

ท่านผู้อ่านที่เป็น FC ของ ไทยรัฐ มายาวนาน คงจะทราบดีแล้วว่า อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คุณ กำพล วัชรพล บุคคลสำคัญของโลก ที่ยูเนสโกประกาศยกย่อง เมื่อ พ.ศ.2562 ได้ริเริ่มและดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2522 เพื่อสนับสนุน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสิ้น 111 แห่ง ในปัจจุบัน

เพื่อให้นักเรียนซึ่งมีถึงกว่า 20,000 คนในปัจจุบัน ได้รับการศึกษาที่ดี มีความรู้ มีระเบียบวินัย พร้อมจะเติบใหญ่เป็นพลเมืองดีของชาติ มูลนิธิไทยรัฐร่วมกับ สพฐ. จะร่วมกันจัดงานสัมมนาใหญ่ ประจำปีให้แก่ “ผู้บริหาร” ทั้ง 111 โรงเรียน ปีละ 1 ครั้ง มาโดยตลอด

...

แยกย้ายไปจัดตามภาคต่างๆทั้ง 4 ภาคของประเทศไทยเรา เพื่อหล่อหลอมผู้บริหารและครูของเราให้เป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกันเนื่องจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีหลักสูตรพิเศษที่เราได้ริเริ่มขึ้น อันได้แก่ “วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อมวลชน” และที่เราได้ฟื้นฟูกลับมาใหม่อีกครั้งได้แก่ “วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” ดังที่หลายๆท่านอาจจะทราบกันอยู่บ้างแล้ว

เราก็จะใช้โอกาสในการสัมมนาผู้บริหารของเราทุกครั้ง พูดถึงหลักและหัวใจของวิชาทั้ง 2 วิชานี้พร้อมกับเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้แก่คณะผู้บริหารควบคู่ไปด้วย

เมื่อปีที่แล้วนี้เอง กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการ ที่จับ วิชาประวัติศาสตร์ไทย กลับมาสอนเป็นวิชาหลักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่แม้จะยังสอนและให้ความสำคัญอยู่ แต่นำไปรวมไว้กับกลุ่มสาระ วิชาสังคมศึกษา ทำให้ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

มูลนิธิไทยรัฐและผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเห็นพ้องกันตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วว่า เราพร้อมที่จะเป็น 1 ในโรงเรียนตัวอย่าง

เราจึงตั้ง “ธีม” หรือ “แนวคิด” ของการสัมมนา ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 41 ที่สงขลาไว้ว่า “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังข้อคิดเห็นจาก ท่านรองเลขาธิการ สพฐ. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ในเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของ สพฐ.แล้ว...เรายังได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต มาเป็นวิทยากร บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” ด้วยอีกท่านหนึ่ง

ขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายๆท่านที่กรุณาไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้เราจะเปิดงานกันเงียบๆ เพราะยังไม่มีรัฐบาล “ตัวจริง” มาบริหารประเทศ ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่รักษาการอยู่ที่เราไปเรียนเชิญต่างก็ขอตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่พวกเราขอให้คำมั่นสัญญาว่าการประชุมจะเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความเข้มข้น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งอย่างแน่นอน

เป็นอันว่าจบมินิซีรีส์ว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ตอนที่ 1 ด้วยประการนี้ โปรดอย่าลืมติดตามตอน 2 และตอน 3 ต่อไปนะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม