นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้ รัฐบาลไม่มีการดำเนินโครงการประกันภัยนาข้าว เนื่องจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเสนอโครงการได้ทันก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา แต่รัฐบาลยังคงมีแนวทางดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ โดยสามารถรับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ในกรณีได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

“การประกันภัยนาข้าวที่ไม่ได้ทำปีนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ เพราะเงินที่กระทรวงการคลังยังมีเพียงพอที่จะทำได้อยู่ แต่ติดปัญหาไม่สามารถเสนอโครงการได้ทันเพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แต่ไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการประกันภัยนาข้าวได้ทันปีนี้ มีความสุ่มเสี่ยงที่ภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณในการดูแลชดเชยความเสียหายแก่ชาวนามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากแต่ละปีรัฐบาลจะใช้เงินชดเชยจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงปีละ 2,000 ล้านบาท แต่หากรัฐไม่ใช้ระบบประกัน และต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเองอาจจะต้องเสียมากกว่านั้น เพราะที่ผ่านมาในบางปี ทางประกันต้องขาดทุน จ่ายชดเชยความเสียหายมากกว่าทุนประกันอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในปีนี้ เป็นปีที่ไทยต้องเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก และทำให้นาข้าวเสียหายได้ง่าย

นอกจากนี้ ในส่วนของชาวนาก็กังวลว่าการให้ระบบรัฐบาลมาเยียวยาจะทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า หรือไม่ได้รับ เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน แต่หากไม่ประกาศก็ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่เผชิญภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง หรือน้ำท่วมในปีนี้จะได้รับการช่วยเหลือ เมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วเท่านั้น.

...