นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงการปฏิรูประบบบริหารจัดการสถานสงเคราะห์ว่า ได้ มอบหมายให้ผู้บริหาร พม.พร้อมผู้บริหารกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ลงพื้นที่สแกนปัญหาการปฏิบัติงานและการดูแลเด็กในสถานรองรับสังกัด ดย. 30 แห่ง ซึ่งมีเด็กอยู่ในความดูแลกว่า 4,000 คน โดยตรวจสอบถึงชั่วโมงการทำงานของพี่เลี้ยง ระบบงานสังคมสงเคราะห์ สภาพแวดล้อม สุขอนามัย ความปลอดภัย โภชนาการ ตารางการจัดกิจกรรมตลอด 24 ชม. มิติความเป็นส่วนตัวของเด็ก โปรแกรมการปรับพฤติกรรมเด็กบางรายที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงเด็กที่มีภาวะพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว ก้าวร้าว ลักขโมย ทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตัวเอง เป็นต้น โดยร่วมกับทีมสหวิชาชีพเข้าไปตรวจสอบถึงมาตรฐานการดูแลทั้งหมด รวมถึงประเมินทักษะความสามารถ ความถนัดของเด็กแต่ละคนนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล ในส่วนของเด็กโตเสนอให้มีการตั้งสภาเด็กให้เด็กมีส่วนร่วมเสนอความต้องการและกำหนดกิจกรรม
ปลัด พม.กล่าวว่า ส่วนผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงจะต้องประเมินการปฏิบัติงานทั้งทัศนคติ ทักษะความรู้ ศักยภาพ ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปหรือไม่จะต้องเพิ่มเติมทักษะด้านใด วิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมดและจัดทำเป็นแซนด์บ็อกซ์แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เสนอของบประมาณจากรัฐบาลชุดใหม่ในการดำเนินการแต่ละด้าน ซึ่งเหตุการณ์พี่เลี้ยงกระทำความรุนแรงกับเด็กในสถานสงเคราะห์หญิง จ.สระบุรี รวมถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดในสถานรองรับเอกชนเป็นบทเรียนที่ต้องมาปรับและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมาตรฐานสูงขึ้น
นายอนุกูลกล่าวอีกว่า เท่าที่สแกนพบปัญหาเรื่องทัศนคติ ขาดทักษะการสื่อสารกับเด็ก อัตราส่วนพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนลักษณะปัญหาของเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องดึงภาคธุรกิจเข้ามาร่วมสนับสนุน นอกจากนี้ต้องอาศัยกลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ร่วมติดตามประเมินและให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานในสถานสงเคราะห์ทั้งหมด โดยให้มีการรายงานทุกเดือนจากที่ผ่านมาเป็นการประเมินติดตามระดับกรม เร็วๆนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ คุ้มครองเด็กแห่งชาติ จะรายงานประเด็นปัญหาให้ที่ประชุมรับทราบพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เด็กปัจจุบันเกิดน้อยลง แต่ยังพบมีการนำเด็กเข้าสู่สถานสงเคราะห์จำนวนมาก ต้องร่วมหาทางออก ทำอย่างไรที่จะให้เด็กอยู่กับครอบครัวหรือชุมชน โดยรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน.
...