e-Tree (อี-ทรี) นวัตกรรมดิจิทัลแพลตฟอร์มระบบการลงทะเบียนต้นไม้ของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ทั้งเพื่อการค้าไม้อย่างถูกกฎหมาย ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสนใจปลูกไม้มีค่ามากยิ่งขึ้น

แพลตฟอร์ม e-Tree ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในด้านการแสดงสิทธิการครอบครองไม้ที่ถูกต้องหรือสำแดงความถูกต้องของไม้ด้วยตัวเอง (Self-declaration:SD) เพื่อเป็นฐานข้อมูลปริมาณไม้มีค่าแต่ละชนิดสำหรับเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ปลูกและผู้ต้องการซื้อไม้มีค่า โดยเฉพาะคู่ค้าต่างประเทศ จะมั่นใจว่าไม้ที่นำมาขายเป็นไม้ที่ถูกต้องอยู่ในระบบไม่ได้ถูกลักลอบตัดจากป่าเพื่อนำมาขาย

แพลตฟอร์ม e-Tree ยังอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปลูก การตัด การเคลื่อนย้ายไม้ การขายไม้และการรับรองไม้โดยเฉพาะที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้แก่ น.ส.3 น.ส.3 ก โฉนด และ ส.ค.1 ซึ่งสอดคล้องกับประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา แก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7 เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 โดยไม้หวงห้ามทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่ครอบครองสามารถตัดนำไปใช้สอย หรือเพื่อค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง ฯลฯ

...

“การอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยให้ได้มากกว่าร้อยละ 40 ภายในปี 2569 เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมากของกรมป่าไม้ แพลตฟอร์ม e-Tree เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศจากการปลูกไม้เศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน กรมป่าไม้และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงรวมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Tree ขึ้นเพื่อรองรับการลงทะเบียนการปลูกไม้เศรษฐกิจสำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถขึ้นที่ดินเป็นสวนป่าตาม พ.ร.บ.สวนป่าได้ โดยแพลตฟอร์ม e-Tree จะอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการบริหารจัดการไม้เศรษฐกิจของตนเอง ทั้งการปลูก ตัด ค้า และยังสามารถจัดทำหนังสือสำแดงความถูกต้องด้วยตนเอง สำหรับใช้ในการเคลื่อนย้ายไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับซื้อขายเป็นรายต้น/ท่อนและแบบน้ำหนัก/ปริมาตร อัตโนมัติจากข้อมูลต้นไม้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ใน e-Tree และกรมป่าไม้ยังใช้ข้อมูลในระบบ e-Tree ไปวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการไม้เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้เข้าถึงตลาดการค้าไม้ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับมาตรการของตลาดในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มจะมีการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกันทั่วโลก สินค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่จะวางขายได้” นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงความสำคัญของแพลตฟอร์ม e-Tree

โดยล่าสุด กรมเจรจาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาระบุว่า สหภาพยุโรป(อียู) ได้ออกระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Defore station-free products Regulation : EUDR หรือ Regulation (EU) 2023/1115) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ โค โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลืองและไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายดาวเทียมว่าสินค้านั้นผลิตบนพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมหรือไม่ เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่าและลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาในอียู ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค.2567

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ระบบการลงทะเบียนต้นไม้ในแพลตฟอร์ม e-Tree จะช่วยให้ผู้ปลูก ผู้ขายใช้เอกสารแสดงได้ว่าเป็นสินค้าตรงตามระเบียบที่อียูกำหนด ระบบการลงทะเบียนต้นไม้หรือ e-Tree ยังสามารถจัดเก็บข้อมูลของต้นไม้ให้ได้รับการพัฒนาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังส่วนต่างๆในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การปลูกจนถึงการตัดจำหน่ายและยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาได้อย่างรวดเร็วช่วยแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้และการขนย้ายไม้อย่างผิด กฎหมายได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรสามารถปลูกไม้มีค่าเพื่อจำหน่าย สามารถเก็บข้อมูลของป่าชุมชนป่าเศรษฐกิจ ที่ปลูกเพื่อการค้าและสามารถจัดการใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ผ่านออนไลน์ได้อย่างครบวงจร

ด้าน นายบุญสุธีย์ จีระวงค์พานิช ผอ.สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม e-Tree ยังช่วยให้ผู้ที่ปลูกต้นไม้ 1-2 ต้นที่ขึ้นทะเบียนกับ e-Tree โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสวนป่าสามารถนำไม้ไปขายได้ ทั้งยังเป็นการเติมเต็มชนิดไม้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าได้อีกด้วย

...

“การลงทะเบียนต้นไม้ในระบบ e-Tree จะทำให้เด็กนักเรียนคนหนึ่งได้มีเสื้อนักเรียนใส่ เช่น พ่อเด็กปลูกต้นไม้ไว้หลังบ้านนานแล้ว แต่วันนี้ไม่มีเงินซื้อเสื้อนักเรียนให้ลูก จะให้เขาไปกู้เงินมาซื้อหรือให้เขาตัดต้นไม้ที่ปลูกไว้หลังบ้านมาขาย โดยแจ้งให้คนซื้อมาตัดต้นไม้ผ่านระบบ e-Tree ทำอย่างนี้ จะทำให้เด็กมีเสื้อนักเรียนและมีข้าวกลางวันกินไปอีกหลายเดือน” ผอ.สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กล่าว

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ระบบ e-Tree จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการแสดงสิทธิการครอบครองไม้ที่ถูกต้อง เป็นฐานข้อมูลปริมาณไม้มีค่าแต่ละชนิดสำหรับเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ปลูกและผู้ต้องการซื้อไม้มีค่า

ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจของเกษตรกร

สำคัญที่สุดคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศไทยเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน.

...

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม