ในหนังสือการเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (มติชน พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2547) อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ขึ้นต้น ตอนเขียนถึง “ชุมนุมเจ้าพิมาย” ไว้ว่า ดูเผินๆประหนึ่งว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของพระเจ้ากรุงธนบุรี
แต่ความจริง ศักยภาพในการเป็นคู่แข่งนี้ มีอยู่ประการเดียว คือเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ที่เหลือรอดจนเป็น “นายชุมนุม” ได้อยู่เพียงองค์เดียว
และความเป็นเจ้าก็ไม่สามารถช่วยพระองค์ได้มากนัก เพราะมีแต่ความยกย่องแต่ปราศจากอำนาจจริง
ก่อนเสียกรุง กรมหมื่นเทพพิพิธ เคยร่วมมือกับขุนนางใหญ่ๆ ก่อกบฏกับพระเจ้าเอกทัศน์ ตอนต้นรัชกาล แม้ไม่สำเร็จ ถูกลงโทษแค่เนรเทศไปอยู่ลังกา มีผู้คนนับถือกันมาก จนพระเจ้าแผ่นดินลังกากลัว
เมื่อเสด็จหนีไปเมืองมะริด ข่าวมาถึงอยุธยาทำให้พระเจ้า
เอกทัศน์ตระหนกตกใจ
อยู่ต่างประเทศเสียหลายปี ตอนกลับไทย กำลังที่เคยมีก็ร่วงโรยไปมาก ขณะพม่าล้อมกรุงมีขุนนางหลายคนหนีไปเป็นกำลัง จึงทรงลองแทงหวยการเมือง ยกทัพมา แต่ถูกทั้งพม่าและกรุงตีแตกกระจาย
ทรงฝ่าดงและทิวเขาขึ้นไปโคราช เจ้าเมืองโคราชคุมคนมาสี่ร้อย ก็จับตัวท่านได้ง่ายๆ อาศัยพระเกียรติ ทรัพย์ และความเป็นเชื้อสายโคราช ไม่เพียงรอดจากการถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ ยังเกลี้ยกล่อมผู้คนจนเอาเมืองโคราชไว้ได้
แต่ไม่นาน หลวงแพ่งก็นำกำลังมาแย่งโคราชคืน บังเอิญเจ้าเมืองพิมาย คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่ เห็นประโยชน์ทางการเมือง จึงเชิดพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ความวิตกของพระเจ้ากรุงธนฯ กรณีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นทางการเมืองมากกว่าทางทหาร ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงย่อมมีสิทธิ์เหนือพระองค์ทุกประการ ในการสืบสันตติวงศ์
ในขณะที่ยังไม่ได้ปราบชุมนุมใหญ่ใดๆเลย นอกจากชุมนุมโพธิ์ สามต้น ชุมนุมพิมายจึงเป็นศัตรูทางการเมืองที่น่าวิตกอยู่พอสมควร
...
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯ ยึดนครราชสีมาและพิมายได้ไม่ยาก
พระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองพิมายเก่าถูกจับประหารชีวิต ข้าราชการกรมหมื่นเทพพิพิธ เข้าใจว่าคงถูกกวาดล้างไปหมดสิ้นด้วย หลักฐานร่วมสมัยกล่าวตรงกัน กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับนำตัวมายังกรุงธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้นคว้าประวัติศาสตรช่วงนี้ระบุว่า เมื่อโคราชแตก กรมหมื่นเทพพิพิธได้หนีไป และทรงผนวชใหม่อีกครั้ง แต่ก็ถูกจับตัวได้
หลักฐานจีนกล่าวว่า กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปอยู่แดนลาว ถูกเจ้าเมืองลาวจับตัวส่ง
หลักฐานร่วมสมัยของไทยกล่าวว่า ในตอนแรกพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงปฏิบัติต่อพระกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยความเคารพ โปรดให้ประจำอยู่วัดแจ้ง
แต่ปรากฏว่า มีผู้คนมาเฝ้ากันมาก ล้วนเป็นคนที่รู้จักจากอยุธยา คนเหล่านี้รับราชการกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ไม่จำเป็นต้องภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างจริงใจนัก
อาจารย์นิธิ ยกงานเขียนชิ้นหนึ่ง ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พรรณนาว่า “ปฤกษามุลลิกาทุกคน ให้ฆ่าภูวมล? กรมเทพพิพิธวายปราณ แม้ไว้จะเกิดวิกาล ไพร่พลมากมาน จะกลับจะกลายราวี”
ด้วยเหตุที่กรมหมื่นเทพพิพิธ ยังมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดจลาจลในราชอาณาจักรได้...จึงจำเป็นต้องประหาร
เรื่องเจ้าพิมาย จบแค่นี้ล่ะครับ ผมย้อนไปอ่านที่อาจารย์นิธิ เขียนวรรคเริ่มต้น...ความเป็นเจ้า ไม่สามารถช่วยอะไรพระองค์ได้มากนัก...และได้ความคิดต่อว่า...ก็ความเป็นเจ้าเป็นนายคนนั่นล่ะหนา! นำเภทภัยมาให้ชีวิตพระองค์เอง.
กิเลน ประลองเชิง