สถานการณ์แนวโน้มคนไทยป่วยเป็น “โรคพาร์กินสัน” นับวันจะเพิ่มสูงมากขึ้นแถมยังมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะสามารถถ่ายทอด “ทางพันธุกรรม” ทั้งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงของการสัมผัสสารเคมีฆ่าแมลง–ยาฆ่าหญ้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบก่อให้เกิดโรคนี้ได้ในระยะยาว

แม้ว่า “โรคนี้ไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้เฉียบพลัน” แต่เมื่อลุกลามรุนแรงอาจต้องเจอกับอาการสั่น ตัวแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานนี้ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หน.ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ  รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

จริงๆแล้ว “โรคพาร์กินสันเป็นโรคอยู่ในกลุ่มความเสื่อมระบบประสาท” ส่วนใหญ่พบบ่อยในประเทศอุตสาหกรรมร้อยละ 1 ของประชากรที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกมีรายงานความชุกของโรคในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2543 จากผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น 0.27-0.44 ต่อประชากรพันคน

...

สำหรับข้อมูล “ประเทศไทย” จากการศึกษาโครงการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันปี 2554 พบว่า ประชาชนมีความเสี่ยงเป็น “โรคพาร์กินสันร้อยละ 1–3 ของจำนวนผู้สูงอายุ” แล้วในเขตเมืองมีความชุกของโรคนี้ประมาณ 126.83 คนต่อประชากรแสนคน และในเขตชนบทมีความชุก 90.82 คนต่อประชากรแสนคน

ดังนั้นคาดการณ์ว่า “ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคพาร์กินสันไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน” อันมีแนวโน้มตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุที่มีอยู่ 14 ล้านคน” ยิ่งกว่านั้นเริ่มเห็นตัวเลขคนอายุน้อยป่วยเป็นโรคนี้ 10% ที่เกิดจากปัจจัยความเสี่ยงการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีผลการวิจัยชัดว่า “ยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงมักก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน” อย่างกรณีผลการศึกษาโครงการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบความชุกของโรคนี้ในจังหวัดใช้ยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงที่สูง

แต่เรื่องน่าตกใจกว่านั้นคือ “ตัวอย่างดินที่เก็บตรวจ” ปรากฏพบว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีการปนเปื้อนยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงเข้มข้น “ไม่เว้นกระทั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ” แม้ไม่มีการเพาะปลูกแต่กลับพบการปนเปื้อนสารเคมีเช่นกันอันเนื่องจาก “น้ำท่วมปี 2554” ได้ชะล้างนำสารเคมีจากพื้นที่การเกษตรกรรมเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก “ต่างประเทศ” มีการศึกษาในกลุ่มเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงโดยเฉพาะอย่างเช่น “การใช้พาราควอต” อันเป็นสารเคมีพิษสูงต่อมนุษย์ทำลายเซลล์สมองนำมาสู่ “ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสัน” ทำให้คาดว่าในปี 2583 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือประมาณ 5 ล้านคน

ตอกย้ำสถานการณ์ “ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน” ปัจจุบันวงการแพทย์กำลังจับตามองเป็นพิเศษสำหรับ “กลุ่มผู้มีอายุน้อยป่วยเป็นโรคนี้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูงขึ้น” ตามปกติคนอายุเกิน 55 ปี มักมีโอกาสเกิดจากพันธุกรรม 5-10% แต่ในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดจากพันธุกรรม 20-30%

แล้วในผู้ป่วยอายุน้อยนี้ “มักไม่มีอาการสั่น” บางคนรู้สึกแค่ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ดีเหมือนปกติ หรือบางคนมาหาหมอด้วยอาการปวดแขนปวดขาได้รับการวินิจฉัยโรคถึงรู้ว่า “ตัวเองป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน” ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยตรวจยีนค้นหาโรคทางพันธุกรรมได้มากกว่า 20 ยีนอย่างแม่นยำ ทำให้เห็นตัวเลขผู้ป่วยอายุน้อยสูงขึ้น

ทว่าในปี 2554 “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน” เคยสำรวจผู้ป่วยด้วยการลงทะเบียนผ่านเครือข่ายสภากาชาดไทย กทม. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทราบตัวเลขผู้ป่วยแท้จริงปรากฏว่าผู้ลงทะเบียนมักเป็นคนไข้ที่รู้ตัวเข้ารักษากับแพทย์แล้ว ทำให้เป็นไปได้ว่าตัวเลขน่าจะมีมากกว่าที่ลงทะเบียนนั้น

...

ฉะนั้นแม้โรคนี้รักษาไม่หายถ้ารู้ว่า “ผิดปกติให้รีบพบแพทย์” โดยเฉพาะคนอายุน้อยที่มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรม “มักมีการสะสมแสดงอาการชัดเจน 10–20 ปีข้างหน้า” บางคนมีสัญญาณเตือนมือสั่นเล็กๆ แขนเกร็งหน่อยๆ ก็ไม่ใส่ใจจนโรคลุกลามรุนแรง ดังนั้นจำเป็นต้องนำคนกลุ่มนี้มาวินิจฉัยรักษาโดยเร็ว

ด้วยปัจจุบัน “โรคพาร์กินสัน” มีวิธีป้องกันรักษาได้หลายวิธีหาก “ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว” ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด และการรักษาด้วยยา เพราะถ้าไม่มาวินิจฉัยโดยเร็วจะทำให้ทรมานจนเป็นภาระครอบครัวได้

นั้นก็นำมาสู่ประเด็น “การป้องกัน” ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ประชาชนไม่ค่อยสนใจที่จะทำกัน “มัวแต่คิดว่าโรคพาร์กินสันเป็นสิ่งไกลตัว” แต่อย่าลืมว่าทุกคนต้องมีอายุเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะหมอทำการตรวจคนไข้ 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกสาขาอาชีพ

ไม่ว่าจะเป็น “ประชาชน พนักงานสายการบิน ครูอาจารย์ หรือนักกีฬา” ล้วนแต่สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้ ทำให้มีการจัดสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร “โรคพาร์กินสัน และการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้” ในวันที่ 7 ก.ค.2566 ผ่านออนไลน์ในการนำความรู้ใหม่ๆมาสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ

...

“งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการตื่นตัวให้ประชาชนได้รู้จักวางแผนป้องกันโรคพาร์กินสันที่ยังพอทำได้ในปัจจุบัน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยก็จะมีวิธีการอย่างไรให้โรคพาร์กินสันเดินไปอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารสุขภาพที่ดีต่อโรคพาร์กินสัน การออกกำลังกายที่ป้องกัน และการนอนที่ดีต่อสุขภาพ” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ว่า

ย้ำจากนั้นจะต่อยอดด้วยต้นแบบนวัตกรรมชุดคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันเคลื่อนที่ สำหรับการคัดแยกอาการผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เซ็นเซอร์ และการวิเคราะห์แบบปัญญาประดิษฐ์  (Artificial Intelligence:AI) เป็นระบบการค้นหาผู้ป่วยระยะเริ่มต้น เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ด้วยการวินิจฉัยอาการของโรคผ่าน “แอปพลิเคชันที่ได้การพัฒนาขึ้นมานี้” อันเป็นแอปพลิเคชันทำหน้าที่เริ่มจากขั้นตอนที่ 1.ประชาชนตอบคำถามต้นแบบนวัตกรรมชุดคัดกรองความเสี่ยง 2.ทำการคัดกรองความเสี่ยงที่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยการพูดได้ครบทุกหน่วยย่อยการออกเสียงผิดปกติที่พบในผู้ป่วย

ด้วยแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพในการบันทึกเสียง การเก็บเสียง และการดึงข้อมูล 3.การทดสอบลายมือเขียน ด้วยการเขียนเป็นประโยค และวงกลมก้นหอย 4.การทดสอบความคล่องแคล่วของนิ้วมือด้วย Purdue pegboard test และการแตะสลับนิ้ว 5.การประเมินการเดิน 6.ประเมินความสามารถการลุกจากที่นอน

...

ขั้นตอนที่ 7.ประเมินคุณภาพการนอน-การหยุดหายใจขณะนอน 8.ประเมินอาการสั่นขณะพักเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้เริ่มมีการทดสอบใช้ใน รพ.จุฬาลงกรณ์จนพบว่า “ระบบสามารถแยกระดับอาการของโรคพาร์กินสันจากผู้ป่วยได้แม่นยำ” ทั้งสามารถแนะนำกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจคัดกรองโรคอย่างละเอียด

ถัดจากนั้น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยประเมินอาการยืนยันอีกครั้ง สิ่งนี้จะเป็นช่องทางให้กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และการรักษาได้อย่างรวดเร็ว “ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหนักรุนแรง” เบื้องต้นปลายปีนี้ “ทีมแพทย์” จะลงพื้นที่ตามจังหวัดที่มีสถิติพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจำนวนมาก

เช่นในพื้นที่ “ภาคกลางอันเป็นอู่ข้าวอย่าง จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี และ จ.อ่างทอง” ด้วยการให้ประชาชนในพื้นที่นั้นทำการโหลดแอปพลิเคชันฟรี “เพื่อทำคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันเบื้องต้น” หากแอปพลิเคชันแยกระดับอาการเป็นกลุ่มเสี่ยง “แพทย์” จะเข้าทำการวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง

คาดว่าในปี 2567 ก็น่าจะสามารถขยายการใช้งานแอปพลิเคชันไปจังหวัดอื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือ “แอปพลิเคชัน” ในการคัดกรองป้องกันโรคพาร์กินสันเบื้องต้นผ่าน “โทรศัพท์มือถือ” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนามาตอบโจทย์ให้ “คนไทย” สามารถเข้าถึงกระบวนการป้องกันและดำเนินการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม