นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่ออายุมากขึ้นและเข้าสู่วัยกลางคน อวัยวะดวงตาส่วนที่เรียกว่าน้ำวุ้นลูกตาจะมีการเสื่อมตามอายุวัย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนวุ้นลูกตาจะเริ่มเสื่อมจับตัวกันเป็นก้อนเล็กๆหรือเส้นเล็กๆ เป็นการเสื่อมไปตามธรรมชาติ บางทีจุดลอย เป็นเจลหรือเศษเซลล์ที่จับกันเป็นก้อนเล็กลอยอยู่ในวุ้นลูกตา โดยมากจุดดำลอยพบได้ในผู้ที่สายตาสั้นหรือเกิดกับผู้ที่ผ่าตัดตาหรือผู้ที่ฉายเลเซอร์ ซึ่งอาจจะรบกวนการมองเห็นหรือเวลาอ่านตัวหนังสือ แต่ไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม สมองจะทำการปรับให้มองไม่เห็นจุดเงานี้ แม้จุดจะยังอยู่ อาจจะใช้วิธีกลอกตาไปมาจนกว่าจุดลอยจะลอยหลีกการบดบังการมองเห็นได้
นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ด้วยโรควุ้นตาเสื่อมมากขึ้น อาการมองเห็นจุดดำลอยไปมา เหมือนหยากไย่ลอยไปมาเหมือนคราบที่ติดกระจก เห็นชัดเมื่อมองไปยังภาพที่มีสีสว่าง พื้นผิวเรียบ ฝาผนังสีพื้น หรือท้องฟ้า หากตรวจพบอาการแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น ประสาทตาฉีกขาด อาการคือ จะมองเห็นแสงแฟลช ฟ้าแลบในที่มืด ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา ด้วยการดำเนินของโรควุ้นตาเสื่อมนี้จะดึงตัวและทำให้จอประสาทตาฉีกขาด อาจทำให้มีเลือดออกเป็นจุด มองเห็นเป็นจุดลอยบดบังสายตา รอยขาดที่จอประสาทตานี้เป็นอันตรายและก่อให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ในที่สุด สาเหตุวุ้นตาเสื่อมนั้น เกิดจากอายุที่มากขึ้น ภาวะสายตาสั้น อุบัติเหตุทางตา โรคเบาหวานขึ้นจอตา ภาวะอักเสบในตา เป็นต้น หากมีอาการพบจุดดำลอยไปมาเพิ่มขึ้นทันทีทันใดมากกว่าในภาวะปกติ พบแสงแฟสชในตาข้างที่พบเห็นจุดดำลอยไปมา หรือเห็นม่านดำในส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพการมองเห็นควรพบจักษุแพทย์ทันที.