หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ... สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง
จึงได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) ร่วมกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน บอกว่า ต้องขอบคุณรัฐบาล ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางานและหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว
ที่สำคัญคือ...แก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
น่าสนใจว่ากระทรวงแรงงาน โดย “กรมการจัดหางาน” ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจก็ยังคงปรากฏอยู่
...
เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้
ในขณะที่ “นายจ้าง”...“สถานประกอบการ” มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดหรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง
กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นนี้
ฉายภาพสะท้อนหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส “โควิด–19” คลี่คลาย รัฐบาลได้มีนโยบายการเปิดประเทศเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าของไทย แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการก็ยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เติบโตจากรายได้...ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังคงต้องอาศัยกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
...มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ “คนต่างด้าว” ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
ให้ “นายจ้าง” ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e–workpermit.doe.go.th หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
...
ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เสริมว่า สำหรับ คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มเป้าหมายมีดังนี้ 1.คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีหนังสือ เดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งมีอายุหรือหมดอายุ และมีรอยตราประทับ
ซึ่งการอนุญาตทำงานหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย เช่น กรณีคนต่างด้าว ออกจากนายจ้างรายเดิมแล้วไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือกรณีไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เนื่องจากดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาไม่ครบทุกขั้นตอน
2.คนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและมีรอยตราประทับ โดยระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Over Stay)
3.คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด และทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ
...
ในส่วนของผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวตามที่กล่าวมา หากมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามระยะ เวลาที่บิดาหรือมารดาของผู้นั้นได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (วันที่ 31 กรกฎาคม 2566) โดยให้ดำเนินการตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนด
ย้ำว่า...ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นายจ้าง...สถานประกอบการ สามารถจ้างงานคนต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรทำงานได้อย่างถูกต้อง
หากนายจ้าง...สถานประกอบการรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ส่วน “คนต่างด้าว” ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
...
“กรมการจัดหางานขอเน้นย้ำให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566”
อธิบดีกรมการจัดหางาน ฝากทิ้งท้ายว่า หากท่านใดพบเห็นการจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือพบคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 0-2354-1729
หรือแจ้งไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1–10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1697.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม