จากการเสวนาวิชาการเรื่องยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม? จัดโดยราชบัณฑิตยสภาร่วมกับสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยตื่นตัวด้านเอไอ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยดูได้จากหัวข้อการวิจัยหรือการประชุมงานวิจัยจะมีเรื่องเอไออยู่ทุกครั้ง ขณะที่คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา มีความพร้อมและอยากทำวิจัยด้านเอไอมาก แต่ปัญหาที่พบคือ หัวข้อวิจัยเอไอส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้เอไอ ไม่ได้เป็นการวิจัยทฤษฎีใหม่ๆ หรือปัญหาใหม่ๆ ด้านรัฐบาลมีความตื่นตัวด้านเอไอทุกหน่วยงานของรัฐ มีแผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ แต่เป็นแผนและยุทธศาสตร์ด้านการประยุกต์สิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้สร้างของใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องแก้ไข เช่น กำหนดสิ่งที่เราต้องการแก้ไขและระยะเวลาการแก้ไข ที่ชัดเจน ส่วนประชาชนก็เคยใช้เอไอแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร บางคนใช้ในทางที่สร้างความเดือดร้อน ทั้งไม่รู้เบื้องหลังว่าโปรแกรมทำงานอย่างไร และมีอันตรายด้านใดบ้าง และกลัวว่าเอไอจะมาแย่งงานทำ ซึ่งการพัฒนาเอไอนั้นสิ่งสำคัญขึ้นอยู่ที่คน ถ้าเป็นคนดีก็จะไม่สร้างโปรแกรมที่ทำลายล้าง ดังนั้น อย่าให้คนไม่ดีเข้ามาในวงการ อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าทุกฝ่ายตื่นตัวด้านการใช้เอไอ แต่ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่รวมตัวกันพัฒนา ซึ่งควรมีหน่วยงานเชื่อมทุกฝ่ายให้มาทำงาน แลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันหากเราผลิตคนด้านดิจิทัลในระดับความเร็วปัจจุบัน คาดว่าเมื่อถึงปี 2570 จะขาดกำลังคนด้านดิจิทัล 6 แสนคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นกำลังคนด้านเอไอ.