จากใจของนายแพทย์ประกิต อนุกูลวิทยา อายุ 34 ปี ปัจจุบัน เป็นอาจารย์แพทย์สาขาประสาท จุฬาฯ

ข่าวที่เราเห็นแพทย์มีการลาออกจากระบบราชการอย่างจำนวนมาก หรือผลิตมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอต่อคนไข้ เป็นปัญหาที่เป็นมายาวนาน ที่จะเป็นข่าวดังเมื่อเราเห็นแพทย์จบใหม่มีการลาออกจากระบบราชการอย่างจำนวนมาก หรือเห็นแพทย์ที่ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมที่แท้จริง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันของการเป็นแพทย์ คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบ แพทย์เด็กๆหรือเรียกว่า แพทย์ใช้ทุนตัวเล็กๆ ที่รักษาคุณตา คุณยาย ที่เห็นยิ้มๆ ภายใต้รอยยิ้มเขาอาจจะมีคราบน้ำตามากมาย บางคนอาจจะหัวเราะภายใต้ภาวะซึมเศร้า มีเพื่อนผมจำนวนไม่น้อยที่ต้องรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นในตอนที่เป็นแพทย์ใช้ทุน รากเหง้าของปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากชนชั้นในระบบแพทย์และความไม่เป็นธรรม

หากจะขยายความในระบบชนชั้นในระบบของแพทย์ คือปกติแพทย์ที่จบใหม่จะมีสตาฟฟ์คอยดูแล ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์รุ่นพี่ ซึ่งระบบนี้แพทย์ที่อาวุโสจะเป็นคนดูแลและสอนแพทย์ที่จบใหม่ ในการดูแลคนไข้ จริงๆเป็นระบบที่ดี เหมือนรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่คิด แท้ที่จริงมันเป็นระบบศักดินา หรือระบบชนชั้น แทนที่รุ่นพี่จะสอน หรือช่วยรุ่นน้องทำงาน แต่กลับกลายเป็นปล่อยให้แพทย์จบใหม่ทำงานด้วยตัวเอง ประสบปัญหาด้วยตัวเอง ทำให้แพทย์ใช้ทุนถูกทอดทิ้ง

...

หรือสตาฟฟ์ที่จบเป็นแพทย์เฉพาะทางใหม่ไฟแรงถูกสตาฟฟ์อาวุโสกดขี่ แพทย์ใช้ทุนทำงานที่สตาฟฟ์ไม่ทำ และสตาฟฟ์ที่อยู่ในระบบก็ใช้เวลาราชการในการกอบโกยเงิน เช่น การเปิดคลินิก เป็นต้น หรือเมื่อแพทย์ใช้ทุนทำงานผิดพลาด เพราะสตาฟฟ์ไม่ได้สอน ก็ด่าทอ เหมือนแพทย์ใช้ทุนเป็นอีกชนชั้น รวมถึงการที่แพทย์ตัวเล็กๆคนหนึ่งออกมาโวยวายว่า “เหนื่อย” ก็จะโดนชนชั้นอาวุโส พูดออกมาว่า “สมัยก่อนหนักกว่านี้ ทำไมไม่สู้งาน”

และเมื่อมีหมอลาออกก็จะโทษหมอที่ลาออกว่าไม่อดทน ยกให้เป็นความผิดของหมอที่ลาออก ให้ภาระเวรและงานอื่นๆตกกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทั้งๆที่เป็นภาระงานเป็นของหมอที่เหลืออยู่ เพราะฉะนั้น ก็ไม่แปลกที่แพทย์ที่จบใหม่จะลาออก

ส่วนความไม่เป็นธรรมหากจะขยายความคือ ความไม่เป็นธรรมในค่าตอบแทนและภาระงาน แพทย์จบใหม่ที่อยู่ในระบบสาธารณสุข เงินเดือน ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน มีค่าไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว 10,000 บาท เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข 5,000 บาท ส่วนที่อยู่เวรนอกเวลา ถ้าคิดต่อชั่วโมงอาจจะไม่ถึง 150 บาทต่อชั่วโมง ด้วยซ้ำ โดยเฉลี่ยแล้วเงินเดือนประมาณ 60,000- 70,000 บาท

ซึ่งเป็นอย่างนี้มาช้านาน ไม่ขึ้นตามยุคสมัย และภาวะเงินเฟ้อ

แต่เมื่อเทียบภาระงาน มีภาระงานทั้งจำนวนคนไข้ที่มากขึ้น ความคาดหวังที่สูงขึ้น จำนวนชั่วโมงในการทำงานที่มาก โดยแพทย์ส่วนมากทำงานอย่างน้อย 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะอยู่เวรอย่างน้อยสองวันต่อสัปดาห์ และเอกสารที่มาก เช่น ชาร์ตผู้ป่วยที่ต้องสรุป นี่ไม่รวมถึงแพทย์ที่ใช้ทุนปี 2 และ 3 ตามโรงพยาบาลชุมชน ที่จะมีงานคุณภาพต่างๆ เช่น งานมาตรฐานโรงพยาบาล (HA) งานดัชนีชี้วัดต่างๆ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบค่าตอบแทน กับภาระงานที่มากมาย แพทย์ที่อยู่ในระบบคิดว่ามันมีความไม่เป็นธรรม เมื่อเทียบกับโรงพยาบาล เอกชน ที่ค่าตอบแทนมากกว่า 2 เท่า แต่ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ยังมีความไม่เป็นธรรมอีกหลายอย่างที่ไม่ได้กล่าว เช่น การย้ายจังหวัด เพื่อจะไปที่บ้านเกิด ถ้าไม่มีเส้นสาย หรือไม่รู้จักใคร ก็อาจจะโยกย้ายยาก ทั้งที่คุณสมบัติถึง การขอทุนหรือเปิดทุน ถ้าจะไปเรียนต่อเฉพาะทาง ถ้าคนไม่รู้จักในระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้เปิดกันง่ายๆ

วิธีการแก้ปัญหานี้มันอาจจะแก้ยาก เพราะเป็นปัญหาโครงสร้างเชิงระบบ แต่หลักๆแพทย์ทุกท่านต้องการความยุติธรรม ได้แก่ ความเท่าเทียม และความเป็นธรรม

...

ความเท่าเทียมกันคืออะไร ไม่ได้หมายความว่าให้แพทย์ทุกท่านทำงานเท่ากัน อยู่เวรเท่ากัน แต่หมายความว่า แพทย์แต่ละคน แต่ละหน้าที่ เฉพาะทางแต่ละสาขา ทำงานในส่วนของตัวเองที่รับผิดชอบ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบแพทย์ที่อายุน้อยกว่า แพทย์ทำงานให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง เช่น เป็นสตาฟฟ์ต้องดูแลและสอนแพทย์ใช้ทุน และมีบทลงโทษสำหรับแพทย์ที่ชัดเจน สำหรับแพทย์ที่ทำผิดหรือกดขี่ รวมถึงความเท่าเทียมในการรับฟังเสียงของแพทย์ใช้ทุน รับฟังปัญหา และพยายามแก้ไขปัญหาให้กับเขา

ส่วนความเป็นธรรม แพทย์ทุกท่านรวมถึงเจ้าหน้าที่ในระบบสาธารณสุขในไทยอยากเห็นความเป็นธรรมของค่าตอบแทน เมื่อเทียบกับภาระงาน โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงความก้าวหน้าทางวิชาชีพที่เป็นธรรม

ซึ่งหน้าที่หลักที่ควรแก้ปัญหาเหล่านี้ น่าจะอยู่ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข แต่จากการที่เราเห็น การแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาการลาออก หรือแพทย์ไม่เพียงพอ คือ การเพิ่มแพทย์จบใหม่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ เพราะการผลิตแพทย์เพิ่มเหมือนเราได้ทหารเกณฑ์ ที่เราต้องฝึกฝน และเขาต้องเรียนรู้ แล้วทำไมเราไม่พยายามเอาคนที่มีประสบการณ์ให้คงอยู่ต่อ หรือการแก้ปัญหาคนที่ลาออกโดยการเพิ่มค่าปรับให้มากขึ้น ซึ่งถ้าแพทย์จะลาออกจริงๆแล้ว เขาก็สามารถหาได้ไม่ยาก ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแท้จริง.

หมอดื้อ