ปัญหาการคอร์รัปชันเกี่ยวกับ “การประมูลงานราชการโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่” นับวันยิ่งมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้น “ยากแก่การตรวจสอบจับกุม” ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณมูลค่ามหาศาลต่อปี ส่งผลให้งานที่ทำมีปัญหา “ประชาชนผู้ใช้งาน” ได้รับอุบัติเหตุเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ทุกวันนี้

เพราะด้วย “งานฮั้วประมูลที่ได้ไป” ส่วนใหญ่ต้องนำเงินค่าจ้างส่วนหนึ่ง จ่ายให้ “เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่เกี่ยวกับการประมูล” ทำให้ผู้ได้รับงานจำเป็นต้องลดมาตรฐานของสิ่งก่อสร้าง “ประหยัดต้นทุน” จนกระทบต่องาน ไม่มีคุณภาพในเรื่องนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า

โครงการขนาดใหญ่ “ทั้งของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ” ไม่ว่าจะเป็น การจัดซื้อจัดจ้าง การร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน “อันเป็นการลงทุนจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ” แต่กลายเป็นที่หมายตาของคนจับจ้องกอบโกย ทำให้เกิดการฮั้วประมูล นับวันยิ่งจะแย่ลงจากเครือข่ายของกลุ่มทุจริตพยายามเข้าแทรกแซงทุกขั้นตอนการประมูล

...

เพื่อแสวงหาประโยชน์มิชอบจาก “โครงการขนาดใหญ่” อันมีเจ้าหน้าที่ รัฐบางคนเป็นผู้กำหนดวิธีการเลือกว่า “เอกชนรายใดจะชนะ” วิธีนี้ลือกันว่า มีนักการเมืองบางคน “วางตัวเป็นบ้านใหญ่” ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังจัดสรรหางานแบ่งเขตกันทำตั้งแต่ระดับจังหวัด และระดับแต่ละภูมิภาคแลกกับการส่งเงินดูแลกัน

ทั้งยังมีรูปแบบ “เอกชนจับมือกับเอกชน” แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนรับรู้ข้อตกลงร่วมกัน “ถ้าผู้ใดผิดสัญญาแหวกฮั้ว หรือทำสัญญาฮั้วแตก” มักถูกรุมกินโต๊ะลงโทษกีดกั้นไม่ให้มีที่ยืนในวงการรับเหมาก่อสร้างอีก

ยิ่งปัจจุบันร้ายกว่านั้นคือ “เอกชนจัดฮั้วประมูลกันเอง” โดยมีกลุ่มทุนหัวใสจัดตั้งเปิดบริษัท หรือรับทำอาชีพจับฮั้วประมูลโดยตรง เพื่อกินเงินส่วนแบ่งสามารถสร้างรายได้ปีละหลายล้านบาทด้วยซ้ำ

ทว่า “การฮั้วงานราชการ” ส่วนใหญ่เครือข่ายทุจริตเข้าแทรกซึมตั้งแต่ “การเขียนโครงการ” เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ ไม่เว้นแม้แต่ “การเขียน ทีโออาร์” ส่วนใหญ่มักล็อกสเปกให้ได้เปรียบคู่แข่งขันหรือปิดบังข้อมูลบางอย่าง เช่น กำหนดเงื่อนไขการเปิดซอง การพิจารณาคุณสมบัติผู้ประมูล หรือกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้างลดการแข่งขัน

ถัดมาคือ “การประมูล” สำหรับขั้นตอนนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก...“การฮั้วประมูล” ลักษณะการกำหนดตัวผู้ชนะประมูลเพื่อให้ได้ ราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อ “ภาครัฐ” มีการแบ่งเค้กจัดสรรงานกัน

ส่วนที่สอง...“การเขียนสัญญา” ผู้ชนะประมูลมักแทรกรายละเอียดเงื่อนไขผิดเพี้ยนไปจาก “ทีโออาร์” เปิดช่องให้แก้ไขสัญญาในอนาคต “ซ่อนปม ลดต้นทุนเพิ่มโอกาสทำกำไร” ที่เอาเปรียบภาครัฐจนอาจเสียค่าโง่ได้

แล้วเครือข่ายทุจริตยังแทรกซึมไปถึง “การบริหารสัญญาระหว่างดำเนินงาน” ตั้งแต่เปลี่ยนแบบ เพิ่ม-ลดงาน ขยายเวลาดำเนินงาน รับงานคุณภาพต่ำกว่าที่ควรเป็น อย่างกรณี “สะพานยกระดับถล่ม” ตั้งข้อสงสัยว่า ขยายเวลาหรือเปลี่ยนแบบให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบหรือไม่ เรื่องนี้ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

สิ่งนี้ล้วนเป็น “การกระทำลักษณะสมยอมในการเสนอราคา” อันมี พฤติการณ์มิให้มีการแข่งขันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่ “หน่วยงานรัฐอย่างแท้จริง” จนเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติมากมาย โดยเฉพาะ “เมกะ โปรเจกต์” มักมีข่าวลือการทุจริตค่อนข้างมาก จากการจับมือของนักการเมืองบางคนและนายทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย

...

เพราะการจะทำโครงการเมกะโปรเจกต์ หรือพีพีพี ต้องอาศัยเงินทุนสูง และต้องมีเทคโนโลยีทันสมัย ส่งผลให้นายทุนลงแข่งขันประมูลมีน้อยราย แล้วยิ่งตอนนี้กฎหมายร่วมทุนรัฐบาลและเอกชนมีการแก้ไขใหม่

ลักษณะเปิดโอกาสกรณีการประมูลรับงานแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นเรื่อง ขอพิจารณาแก้ไขสัญญาได้ ทำให้ผู้ประกอบการมักประมูลให้ได้งานก่อนแล้วค่อยแก้ระเบียบใหม่ภายหลัง เรื่องนี้ถ้าเจอเจ้าหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์หรือไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ อาจกลายเป็นช่องว่างแสวงหาผลประโยชน์สร้างความเสียหายให้ประเทศตามมา

“ตามที่พูดคุยกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการก่อสร้างปัญหาฮั้วประมูล และล็อกสเปก เป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไขควบคุมได้เพราะผู้ประกอบการน้อย รายสามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ทำเรื่องผิดกฎหมายนี้เลย” ดร.มานะว่า

ย้ำข้อมูลในปี 2566 “มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐ” ทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแตะระดับอยู่ที่ 817,000 ล้านบาท แล้วในส่วน “มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชน” มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ 586,000 ล้านบาท ทั้งการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ การก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง

...

ฉะนั้นเห็นได้ว่า “มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน” ด้วยภาครัฐมีแผนลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม โครงข่ายทางหลวง โครงข่ายระบบรางมากมาย กลายเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ต้องการอยากได้รับงานเหล่านี้

ถ้าเปรียบเทียบ “ตัวเลขนิติบุคคลด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง” ที่มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนราย ในจำนวนนี้มีการขึ้นทะเบียนก่อสร้างกับหน่วยงานภาครัฐเพียง 3,000 ราย ถ้ารวมกับงานก่อสร้างอาคาร งานแสงสว่าง และงานซ่อมบำรุงน่าจะไม่เกินหลักหมื่นราย

สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้รับเหมาเข้ารับงานกับภาครัฐน้อยมาก” สันนิษฐาน ได้ว่ามีการแข่งขันประมูลโครงการงานก่อสร้างกับภาครัฐไม่มาก “เสี่ยงต่อ การฮั้ว หรือล็อกสเปก” อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และฝ่ายเอกชนผู้ยื่นประมูลงานสมรู้ร่วมคิดทุจริตเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นอย่างผิดกฎหมาย

สิ่งนี้จะมีผลกระทบคือ “ความปลอดภัยของประชาชน” ด้วยการทุจริตคอร์รัปชันโครงการก่อสร้างแล้ว “มักมีการลดต้นทุน” ในการใช้วัสดุคุณภาพต่ำ รวมถึงลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้บริษัทเหลือเงินกำไรมากขึ้น ทำให้การก่อสร้างบางแห่งเกิดอุบัติเหตุเศษวัสดุสิ่งของหลุดร่วงที่พื้นผิวจราจร

...

ไม่เท่านั้นในบางโครงการกลับเกิดปัญหาอย่างเช่น ตึกอาคารทรุด และถนนเป็นหลุมเป็นบ่อจน “ประชาชน” ผู้ใช้งานได้เกิดอุบัติเหตุเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อ “ประเทศเสียประโยชน์” บางโครงการก่อสร้างเสร็จ กลับใช้งานไม่ได้ อย่างที่เห็นกันบ่อยในต่างจังหวัด เช่น การก่อสร้างสนามกีฬา พิพิธภัณฑ์ ศูนย์โอทอป มีทั้งสร้างเสร็จและสร้างไม่เสร็จปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก ถ้าหากเป็นในส่วนผลกระทบระยะ “สูญเสียงบประมาณ” ในการซ่อมบำรุงอยู่ตลอดเวลา

กลายเป็นว่า “ภาครัฐ” ต้องจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าที่เป็นจริง “ประชาชน ได้รับบริการสาธารณะไม่มีคุณภาพ” ทั้งยังทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบราชการไทยที่มักจะมีการใช้อำนาจโดยมิชอบเรียกผลประโยชน์แลกกับการอนุญาตให้เอกชนดำเนินการในกิจการที่ภาครัฐจะต้องทำนั้น

ในส่วนด้านความเสียหายแล้วมักมีข่าวลือกันว่า การทุจริตโครงการก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ต้องจ่ายสินบนกันอยู่ที่ 7% หากเป็นโครงการก่อสร้างอื่นอาจจะกินสินบนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-25% แล้วยิ่งในต่างจังหวัดอาจมีการกินสินบนสูงถึง 70% ส่งผลให้ภาครัฐอาจต้องสูญเสียผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท/ปี

แล้วเงินจำนวนนี้ “หากไม่ไปตกอยู่ในกระเป๋าของคนไม่กี่คน” สามารถ นำไปพัฒนาอำนวยประโยชน์แก่คนในประเทศได้อย่างมหาศาล “ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณะมีคุณภาพ” ทั้งยังทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นในระบบราชการไทยมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นอยากเรียกร้องให้ “ทุกภาคส่วน” เริ่มต้นร่วมกันทำหน้าที่ สอดส่องตรวจสอบ “เครือข่ายการทุจริตฮั้วประมูลงานราชการ” ที่กำลังจะสร้างผลร้ายต่อประชาชน และประเทศชาติแบบไม่มีวันจบสิ้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม