จบไปแล้วกับ “ขแมร์ซีเกมส์” ครั้งที่ 32 คราต่อไป ถึงคิว “ประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา ปี 2568... และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งสิ้นสุดการแข่งขันกีฬาคนพิการนานาชาติ “พารา แบดมินตัน อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี

ครั้งนี้มีนักกีฬาผู้พิการหัวใจเหล็ก 320 คน เจ้าหน้าที่ 100 คนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมชิงชัย...นัยว่าวอร์มอัปเตรียมรับ “อาเซียนพาราเกมส์” หลังจบซีเกมส์ในไทย

ประเด็นสำคัญมีว่า “ผู้บกพร่องทางร่างกาย”...องค์การอนามัยโลก (ฮู) สะท้อนข้อมูลไว้ว่า ขณะนี้โลกมีประชากรราว 7.5 พันล้านคน เป็นคนพิการ 15% คำนวณคร่าวๆก็ราว 800 ล้านคน แต่ละคนมีต้นเหตุแตกต่างกัน แต่แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่...คือ “พิการโดยกำเนิด” กับ “เกิดอุบัติเหตุขึ้นภายหลัง”

คนเหล่านี้...พบว่าเดิมน่าห่วงใยในพฤติกรรม คือชอบเก็บตัวเงียบไม่สู้จะออกมาใช้ชีวิตในโลกกว้าง...ต่อมาเมื่อเริ่มเข้าใจวิถีและเลิกพ่ายแพ้ต่อเกมชีวิตกลับไม่ยอมเป็นภาระแก่สังคม เพียงแต่ช่วยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้...แค่นั้นเป็นพอ

...

ตัวอย่างคนประเภทเดียวกันในแต่ละประเทศมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกัน เช่น ความพร้อมทางลาดสำหรับวีลแชร์รองรับการเดินทางและอาคารสถานที่ให้บริการโดยไม่รบกวนผู้ใด...พวกเขาจึงยินดีตัดสินใจจะไปเยือนทันที

ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากงานวิจัยถึงมูลค่านักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการตลาดยุโรป ซึ่งเป็นนิชมาร์เกตขนาดใหญ่ของไทย คาดแนวโน้มอยู่ที่ 160 ล้านคนปี 2025 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า โดย 70% คือคนรักการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แม้ร่างกายจะไม่อำนวยแต่ไม่ใช่อุปสรรคกับพวกเขา

แน่นอนว่าธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่มีเป้าหมายให้ความสำคัญ เพราะส่วนใหญ่เป็นโอนเนอร์ธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง สร้างรายได้ท่องเที่ยวถึงปีละ 160.6 พันล้านยูโรหรือ 5.94 พันล้านบาท มากกว่าคนปกติถึง 1.16 เท่า...และเขาเหล่านี้ไม่นิยมเดินทางลำพังจะไปพร้อมเพื่อนหรือญาติตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

เอาเป็นว่าบ้านเราก็เคยสนใจตลาดนี้...ลงทุนออกแคมเปญเอาใจ “ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” สุดปังด้วย “ทัวริซึ่ม ฟอร์ ออล” บอกไม่มีช่องว่างในหมู่มวลมนุษย์สัญญาจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง...แล้วไฟก็ไหม้ฟางไปกระพือใส่ตลาด “แอลจีบีทีคิว” แทน

น่าสนใจอีกว่าตลาดนี้นอกจากจะเป็นทัวริสต์คุณภาพแล้ว...การเล่นกีฬาผู้พิการก็ถือว่ามีค่ายิ่งต่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน ด้วยว่าหลายๆคนอดทนฝึกฝนจนคนทั้งโลกยอมรับ

อาทิ ทริสซา ซอร์น เงือกสาวผู้พิการสายตาสหรัฐฯ โยนาส ยาค็อปสัน หนุ่มนักแม่นปืนบนวีลแชร์ชาวสวีเดน เบียทริซ เฮสส์ เงือกสาวชาวฝรั่งเศสผู้พิการสมองและร่างกาย เจ้าของเหรียญทอง 50 เหรียญในมหกรรมกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ผ่านมา

พิพัฒน์ จันทระไพจิตร
พิพัฒน์ จันทระไพจิตร

ตัดกลับมาที่ “ไทยแลนด์ พารา แบดมินตัน อินเตอร์ฯ” สวนนงนุชพัทยา พิพัฒน์ จันทระไพจิตร เลขาธิการสมาคมกีฬาแบดมินตันคนพิการแห่งประเทศไทย ในฐานะรองผู้ควบคุมการแข่งขัน บอกว่า

ครั้งนี้ได้รับการรับรองจากสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (บีดับเบิลยูเอฟ) โดยเป็นการเก็บสะสมคะแนนรายการที่ 4 จาก 12 รายการ เพื่อนำไปสู่ความฝันในการแข่งขัน “พาราลิมปิกเกมส์ 2024” ปีหน้า ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

...

“ทั้งนี้ คัดเอาผู้พิการอวัยวะแขนหรือขา ผู้เคลื่อนไหวบนวีลแชร์ และร่างกายเตี้ย แคระแกร็น ทำคะแนนสะสมได้อันดับ 1 ถึง 6 จาก 6 รายการ 34 ประเทศ 320 คน เป็นคนไทย 37 คน นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่กรรมการและแชมป์พาราลิมปิกโตเกียว 2020 รวม 3,000 คน ร่วมอีเวนต์”

พิพัฒน์ ย้ำว่า ครั้งนี้เราต้องบิดการเป็นเจ้าภาพชนะคู่แข่งแคนาดามาได้ด้วยเหตุผล กรรมการทุกฝ่ายเห็นถึงความพร้อมและมีมาตรฐานสากลคือ มีสนามแข่ง 6 ซ้อม 4 นักกีฬาและผู้ร่วมงานพักที่เดียวกัน ค่าลงทะเบียนนักกีฬาคนละ 150 เหรียญยูเอสฯ ตลอดการซ้อมและแข่งขัน 10 วัน...

ที่สำคัญต้นปีหน้าสหพันธ์แบดมินตันโลกจะจัดแข่ง “เวิลด์ พารา แบดมินตัน แชมเปียนชิป” ที่สวนนงนุชพัทยานี้อีกเช่นกัน

กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา เสริมว่า เราเคยได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่แข่งขันกีฬานานาชาติ เช่น ปิงปอง ชกมวย และกีฬาอินดอร์หลายชนิดมาก่อน

สำหรับกีฬาคนพิการหนนี้เป็นครั้งแรกแต่ไม่มีปัญหา เพราะมีห้องพักสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ รับได้ 127 ห้อง ที่นงนุชบูติค-เทรดดิชั่นรีสอร์ท และผู้เกี่ยวข้องพักที่โรงแรมนงนุชและนงนุชรีสอร์ทอีก 110 ห้อง

ส่วนสนามแข่งขันมีอาคารศูนย์ประชุมนานาชาติพื้นที่ 5,760 ตารางเมตร เป็นสถานแข่งขัน 10 สนามได้สบายๆ พร้อมอุปกรณ์เช่น เครื่องมือสื่อสารดิจิทัล จอมอนิเตอร์รายงานผลการแข่งขัน ห้องประชุมแถลงข่าว

นอกจากนี้ ยังมีสระว่ายน้ำเพื่อคนพิการและห้องฟิตเนสออกกำลังกาย ห้องเลี้ยงอาหารและบุคลากรบริการเพียงพอกับสวนรีแลกซ์หลังจบการแข่งขันแต่ละวัน

ไค หยี ลิน
ไค หยี ลิน

...

ไค หยี ลิน นักกีฬาพิการแคระสูงเพียง 123 เซนติเมตร นักศึกษาวิชาบริหารธุรกิจชั้นปี 4 จากไทเป ไต้หวัน เล่นแบดมินตันมา 3 ปีตระเวนแข่งมาแล้วทั้งที่ญี่ปุ่น มาดริด ดูไบ บราซิล จีน และไทย ยอมรับ...สถานที่แข่งขันครั้งนี้สวยกว้างขวาง ที่พักหรูสบาย อาหาร เอเชียไม่แตกต่างกัน

อีกอย่างเคยมาแข่งเมืองไทยแล้ว 2 ครั้งจึงรู้สึกคุ้นเคย

“ที่ผ่านมาชอบญี่ปุ่นตรงสะอาดสะดวกและปลอดภัย เมืองไทยเสียอย่างเดียวอากาศร้อน ตอนแข่งขันต้องตบแป้งถึงหลายครั้ง แต่ชอบที่สุดคือการนวดแผนไทย” ไค หยี ลิน ว่า

ถึงตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่า... “โอเคนัมเบอร์วัน” ศัพท์วัยรุ่นหมายถึง “ได้เลย” หรือ “จัดมาเลย” กับการส่งเสริมคนหัวใจเหล็กเหล่านี้ให้มีที่ยืนผงาดได้ในสังคม

ด้วยการใช้กีฬาบ่งบอกถึงความสามารถเฉพาะตัวเฉกเช่นคนปกติ...

ขณะเดียวกันกับการที่บ้านเราได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดกีฬาระดับนานาชาติ ย่อมเป็นการยืนยันชาวโลกถึงเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองที่พอมี ไร้ซึ่งปัญหาเรื่องการก่อการร้ายหรือเหตุจลาจลกลางเมือง...และมีศักยภาพสูงด้านสถานที่แข่งขัน

...

ทั้งสองสิ่งนี้บอกได้เลย...มีคุณค่ามหาศาลกับ “ผู้พิการ” ไทยทั้งในระบบและนอกระบบร่วม 3.7 ล้านคน ในประชากรผู้พิการโลก 800 ล้านคน อันจะนำไปสู่ความจริงที่ว่า...“สัจธรรมแห่งความเสมอภาคของมนุษย์เท่านั้น-ที่จะค้ำจุนโลก”.

อ่านข่าวเพิ่มเติม "สกู๊ปหน้า 1"