ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2566 สะท้อนให้เห็นความสำเร็จบางประการในการขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและสตรีไทย แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาใหม่ๆที่เข้ามาท้าทายให้ขบคิด
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) เป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุด จัดทำขึ้นทุก 3 ปี มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ กว่า 130 ตัวชี้วัด เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก ครั้งล่าสุดนี้เก็บข้อมูลจาก 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ
MICS ถูกจัดทำขึ้นภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟใน 115 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยจัดทำครั้งแรกในปี 2548 โดยรอบการจัดทำในปี 2565 ถือเป็นครั้งที่ 5
การทำผลสำรวจขนาดใหญ่เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีในประเทศไทย
...
พัฒนาการของเด็กและสตรีไทยที่มีความก้าวหน้าจากการสำรวจครั้งล่าสุด มีตั้งแต่อัตราคลอดในวัยรุ่นไทยจาก 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 เหลือ 18 คน ต่อ 1,000 คน ในปี 2565 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 75% ในปี 2558 เหลือ 58% และ 54% ในปี 2562 และ 2565 ตามลำดับ ตลอดจนความก้าวหน้าด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย โดยในปี 2565 มีทารกอายุ ไม่เกิน 6 เดือนจำนวน 29% ที่ได้กินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก เมื่อเทียบกับ 14% ในปี 2562
ขณะที่ประเด็นเฝ้าระวังก็ยังมีจำนวนไม่น้อย ประกอบด้วย ภาวะทุพโภชนาการของเด็กที่จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมอง สุขภาพ และความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว ผลสำรวจพบอัตราเด็กที่มีภาวะเตี้ย แคระ แกร็นยังอยู่ที่ 13% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 7% และมีภาวะผอมแห้ง 7% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2562 โดยเด็กภาคเหนือมีปัญหาเตี้ย แคระ แกร็น
สูงสุด ส่วนภาคกลางมีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และผอมแห้งสูงสุด
ในทางตรงกันข้ามอัตราเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีภาวะอ้วน เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 9% ในปี 2562 เป็น 11% โดยเด็กภาคกลางมีภาวะน้ำหนักเกินสูงสุดที่ 15.1% ภาคใต้น้อยที่สุดที่ 7.7%
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังสะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็กเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งจัดทำก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยของเด็กอายุ 3-4 ปี ลดลงจาก 86% ในปี 2562 เหลือ 75% ในปี 2565 อัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กอายุ 5 ปี (เมื่อเริ่มปีการศึกษา) ลดลงจาก 99% เหลือ 88%
เช่นเดียวกับจำนวนเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียน เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2562 เป็น 4% ในปี 2565 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มจาก 3% เป็น 5% ส่วนอัตราการไม่ได้เข้าเรียนสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายที่ 15%
ปัญหาการสมรสก่อนวัยอันควรยังเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล โดยในปี 2565 ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปีจำนวน 1 ใน 6 คน หรือราว 17% สมรสก่อนอายุ 18 ปี และเกือบ 6% สมรสก่อนอายุ 15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2562
และยังคงมีเด็กไทยนับล้านคน เติบโตขึ้นโดยไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ ผลสำรวจพบว่าเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี จำนวน 25% หรือประมาณ 3 ล้านคน ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ โดยส่วนใหญ่ที่ 71% อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย
อย่างไม่น่าประหลาดใจสำหรับเด็กและสตรีไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยมีความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลในเด็กแต่ละกลุ่ม ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะครอบครัว ระดับการศึกษาของพ่อแม่ และชาติพันธุ์ โดยเด็กในครอบครัวมั่งคั่งสัดส่วน 74.8% ผ่านการวัดทักษะทางการคำนวณเมื่อเทียบกับ 54.4% ของเด็กในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวย เช่นเดียวกับการวัดทักษะด้านการอ่านและการมีหนังสืออ่าน เด็กในครอบครัวร่ำรวยจำนวน 59.3% มีหนังสืออ่าน ขณะที่ครอบครัวยากจนมีหนังสืออ่าน 18.7%
ส่งผลให้ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดเลขของเด็กไทยมีแนวโน้มแย่ลง!! โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจรัดตัวหลังโควิด-19.
...
ศุภิกา ยิ้มละมัย
อ่านข่าวเพิ่มเติม "THE ISSUES"