รองโฆษก ตร.เตือนภัยมิจฉาชีพออนไลน์ 3 มุกที่กำลังระบาดหนัก ทั้งอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่น่าเชื่อถือ เช่น สายการบิน และมุกส่งข้อความทำให้เหยื่อสงสัย ทุกการหลอกลวงเพื่อให้กดลิงก์ติดตั้งแอปฯดูดเงินโดยไม่รู้ตัว จนเงินในบัญชีถูกโอนผ่านโทรศัพท์มือถือจนหมด พร้อมเน้นย้ำให้ทำแบบทดสอบไซเบอร์ หรือ “ไซเบอร์วัคซีน” 40 ข้อที่ “บิ๊กเด่น” จัดทำขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้ตัวเอง

ภัยจากมิจฉาชีพภายในโลกออนไลน์ยังระบาดหนัก สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในวงกว้าง เปิดเผยขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ก.ค. พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) เผยอุบายของโจรออนไลน์ที่ใช้หลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในโทรศัพท์มือถือเข้าไปดูดเงินในบัญชีว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงินเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง ขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงวิธีการของโจรออนไลน์ที่จะติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ เพื่อหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์มือถือและดูดเงินในบัญชีโดยใช้อุบายดังต่อไปนี้

รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า 1.หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน อ้างว่าสำรวจผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือหน่วยงานสรรพากร อ้างว่าจะคืนภาษีหรือตรวจสอบภาษีประจำปี และอ้างว่าเป็นหน่วยงานของการไฟฟ้าหรือการประปาต้องการโอนค่าบริการส่วนเกินคืนหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ประชาชนฟรี เป็นต้น กลุ่มมิจฉาชีพทางออนไลน์จะติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ส่งเอกสารราชการปลอมเพิ่มความน่าเชื่อถือ พูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คล้ายกับของจริง นำไปสู่การติดตั้งแอปดูดเงิน

...

“2.มิจฉาชีพจะหลอกว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สายการบินและบริษัทขายอุปกรณ์ไอทีชื่อดัง โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชนหรือโพสต์โฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ ออกอุบายดึงดูดความสนใจ อาทิ ได้รับตั๋วเครื่องบินฟรี เป็นผู้โชคดีได้ของขวัญหรือของรางวัล หรือมีโปรโมชันลดราคาสินค้า เมื่อประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์จะถูกดูดเงินไปจนหมดบัญชี และ 3.หลอกให้เกิดความสงสัย มิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชนในเชิงหาเรื่อง ทำให้เกิดความสงสัยกระวนกระวายใจ เช่น “เธอทำแบบนี้กับเราได้อย่างไร” “ไม่รู้ตัวเหรอว่ามีคลิปหลุด” หรือ “ทำตัวแบบนี้ น่าโดนประจานให้อาย” แล้วโจรออนไลน์จะส่งลิงก์มาให้เพื่อกดดูข้อมูลที่หลอกเพื่อยืนยัน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดลิงก์เข้าไปอาจถูกดูดเงินจนหมดบัญชี” พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณกล่าว

รองโฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างมีสติ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.จัดทำแบบทดสอบไซเบอร์วัคซีน (Cyber Vaccine) จำนวน 40 ข้อ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้ประชาชน และสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และเพจเฟซบุ๊ก “เตือนภัยออนไลน์” นอกจากนี้ สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 08-1866-3000 และผู้เสียหาย สามารถติดต่อธนาคารของตนเองเพื่อระงับบัญชี ธนาคารจะออกแบงก์ไอดี (Bank ID) ผ่านเอสเอ็มเอส และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว ไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุภายใน 72 ชม.หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www. thaipoliceonline.com