กรมการค้าภายใน ปล่อยรถโมบาย ขน "สับปะรดภูแล ส้มโอเชียงราย และน้ำสับปะรดแปรรูป" จากภาคเหนือ ส่งไปจำหน่ายในห้างท้องถิ่น รถโมบายพาณิชย์ และในหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ปล่อยรถโมบาย โดยนำผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ สับปะรดภูแล ส้มโอเชียงราย และน้ำสับปะรดบรรจุขวด เพื่อส่งไปจำหน่ายในห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ ในรถโมบายพาณิชย์ 100 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจุดจำหน่ายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการรายได้ 7 ราย ที่วัดห้วยปลากั้ง โดยมีพระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ใน จ.เชียงราย
"กรมฯ และทางวัดห้วยปลากั้ง มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ให้ขายผลผลิตได้ในราคาดี โดยที่ผ่านมา ทางวัดก็ได้ช่วยซื้อผลไม้จากเกษตรกร มาจำหน่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่วัด และกรมฯ ก็มีมาตรการดูแลผลไม้
...
โดยนำผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อผลไม้ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จึงได้หารือกับพระอาจารย์พบโชค และเห็นตรงกันที่จะร่วมมือกันในการช่วยเหลือเกษตรกร จึงเป็นที่มาของการปล่อยรถโมบายนำผลไม้ของเกษตรกรใน จ.เชียงราย ไปจำหน่ายในครั้งนี้" นายวัฒนศักย์ กล่าว
สำหรับผลไม้ที่จะนำไปจำหน่าย ส้มโอ จ.เชียงราย และน้ำสับปะรดแปรรูป จะส่งไปยังห้างท้องถิ่น ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของกรมฯ โดยจะส่งไปยังห้างท้องถิ่นในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ
ส่วนสับปะรดภูแล จะส่งไปจำหน่ายที่จุดจำหน่ายในหมู่บ้าน และคอนโดมิเนียม ที่กรมฯ ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 7 ราย รวมถึงลำไยจากภาคเหนือ มังคุดจากภาคใต้ และลองกองจาก จ.อุตรดิตถ์
ทั้งนี้ กรมฯ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ในจังหวัด หรือจุดที่จะนำผลไม้ไปจำหน่าย ขอให้ช่วยกันบริโภคผลไม้ ทั้งสับปะรดภูแล ลำไย มังคุด และลองกอง โดยในส่วนของโมบายพาณิชย์ 100 จุด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจุดจำหน่ายในพื้นที่หมู่บ้านและคอนโดมิเนียม สามารถติดตามได้ทาง www.dit.go.th, Line @mobilepanich หรือ Line @Mr.dit
และอีกหนึ่งมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกในปีนี้ กรมการค้าภายในร่วมกับไปรษณีย์ไทย ในการสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้พร้อมสติกเกอร์บาร์โค้ดจัดส่งฟรี 10 กิโลกรัม ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่ขายตรงไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นการเพิ่มช่องทางให้กับเกษตรกรในการกระจายผลผลิต.