สถานการณ์โลกในเวลานี้ มีความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจและความมั่นคง มีรายงานข่าวจาก กระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร จากผู้ผลิตไทยจำนวน 16 ราย 22 รายการ อ้างเหตุจากกรณีการตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชในอาหารบ้างข้อมูลบนฉลากผิดพลาดบ้าง ไม่ระบุเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้บ้าง ใส่สีสังเคราะห์ที่ไม่ปลอดภัยบ้าง จับผิดทุกเม็ด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสินค้าที่เคยถูกปฏิเสธการนำเข้ามาแล้วในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. เป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนกฎระเบียบของสหรัฐฯ ในระยะยาว มีผลกระทบถึงความเชื่อมั่นสินค้าจากไทย ทั้งผู้นำเข้าและผู้บริโภค
ความเข้มงวดด้านสินค้าด้านอาหารเริ่มจะมีความเข้มข้นมากขึ้น องค์การอนามัยโลก ออกมาระบุว่า สารใช้แทนความหวาน ที่ใช้ผลิตอาหารประเภทเครื่องดื่ม น้ำอัดลม ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี สารเสี่ยงก่อมะเร็ง ซึ่งคณะกรรมการด้านสารเติมแต่งของ WHO กำลังทบทวนการใช้ แอสปาร์แตม ที่จะต้องมีการควบคุมปริมาณการบริโภคอยู่ในปริมาณที่จำกัด
ส่วนภาคธุรกิจอื่นๆก็หนีไม่พ้นจากผลกระทบทางธุรกิจ เช่นกรณีที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง แสดงความเห็นเอาไว้ ว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหญ่ กำลังจะเป็นบูมเมอแรงกระทบ กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ โดยตรง ถึงขั้นจะทำให้คนอเมริกัน มีผลกระทบกับด้านที่อยู่อาศัยและจนลงกว่า 1.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังกระทบไปยังยุโรปและจีน ทั้งด้านราคาพลังงาน อาหาร ปุ๋ย แน่นอนว่าปัจจัยเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์จะต่ำลงมาก
ความเปราะบางทางการเมืองโลก จากสถานการณ์ สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างประเทศมหาอำนาจ แค่การเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน รวมทั้ง หลี่ เฉียง นายกฯจีน ทำให้ เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐฯถูกวิจารณ์อย่างหนัก เช่น ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการไปคำนับให้กับระดับผู้นำของจีนก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร
...
ก่อนหน้านี้ แอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เคยเดินทางเข้าพบกับผู้นำจีนมาแล้วในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่สิ่งที่กำลังจะเป็นเรื่องขึ้นมาอีกรอบคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่รบยืดเยื้อกันมานานกว่า 500 วันแล้ว เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า สหรัฐฯได้ให้การสนับสนุนยูเครน เป็นมูลค่ากว่า 42,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.47 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยในปัจจุบัน
สงครามเริ่มจะถึงจุดจบ โฟกัสไปที่กรณีสหรัฐฯเตรียมส่ง คลัสเตอร์บอมบ์หรือระเบิดดาวกระจายให้กับยูเครน ซึ่งแม้แต่ ยูเอ็นหรืออีกหลายประเทศจะไม่เห็นด้วยก็ตามเพราะจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล คำถามแล้วรัสเซียจะตัดสินใจตอบโต้ในระดับไหน สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของสถานการณ์โลก
แต่เราจะมีรัฐบาลที่พร้อมจะรับมือกับสถานการณ์โลกเมื่อไหร่คือคำถามที่ต้องมีคำตอบโดยเร็วที่สุด.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th