สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับยูนิเซฟ จัดทำผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีไทยปี 2565 พบความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาสำคัญในเด็ก ขึ้นอยู่กับพื้นที่อยู่อาศัย ฐานะ ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ ขณะที่โควิด–19 ทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กลดลง ทักษะด้านการอ่านและการคิดเลขต่ำลง

นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟจัดทำผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ประจำปี 2565 เป็นการจัดทำครั้งที่ 5 ของประเทศไทย พบความเหลื่อมล้ำ ยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยมีความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลในเด็กแต่ละกลุ่มขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ระดับการ ศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ โควิด-19 ยังทำให้อัตราเด็กที่ไม่ได้เรียนเพิ่มขึ้นในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวนเด็กที่ไม่ได้เรียนยังอยู่ในระดับสูงอย่างน่าเป็นห่วง MICS เป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง ประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จัดทำขึ้นทุก 3 ปี เก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆกว่า 130 ตัวชี้วัด เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็กจาก 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย.-ต.ค.2565 เป็นช่วงที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19

ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนแนวโน้มน่ากังวล ด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งจัดทำก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนหลักสูตร ปฐมวัยของเด็กอายุ 3-4 ปี ลดลงจาก 86% ในปี 2562 เหลือ 75% เมื่อปีที่ผ่านมา และอัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กอายุ 5 ปี (เมื่อเริ่มปีการศึกษา) ลดลงจาก 99% เหลือ 88% และอัตราของเด็กปฐมวัย ที่มีความพร้อมในการเข้าโรงเรียน ทั้งด้านร่างกาย สมอง สังคม อารมณ์ และภาษา ลดลงจาก 99% เหลือ 94% เช่นกัน

...

“อัตราของเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี 2562 เป็น 4% ในปี 2565 ส่วนอัตราการไม่ได้เข้าเรียน ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 5% ขณะที่อัตราการไม่ได้เข้าเรียนยังคงสูงสุดในกลุ่มเด็กวัยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอยู่ที่ 15% ในปี 2565”

นอกจากนี้ ยังมีความน่ากังวลด้านการใช้เวลาของเด็กในการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งพบว่า 62% ของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจำนวนนี้ เด็ก 13% ใช้เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน หรือนานกว่านั้น เมื่อเทียบกับ 8% ในปี 2562 ทำให้เด็กใช้เวลาอ่านหนังสือที่บ้านน้อยลง โดยเด็ก 6 ใน 10 คน มีหนังสือสำหรับเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม ขณะที่ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดเลขของเด็กๆมีแนวโน้มแย่ลงในช่วงโควิด-19 ด้วย โดยปี 2565 มีเด็กในชั้นประถมฯ 2 และ 3 ที่มีทักษะด้านการอ่าน 47% ลดลงจาก 52% ในปี 2562 และ 40% มีทักษะพื้นฐานด้านการคำนวณ เมื่อเทียบกับ 47% ในปี 2562

“สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย มีความก้าวหน้าในหลายหัวข้อ เช่น การคลอดบุตร ในกลุ่มวัยรุ่นลดลงจาก 23 คนต่อวัยรุ่น 1,000 คน ในปี 2562 เหลือ 18 คน ในปี 2565 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในทารกอายุไม่เกิน 6 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 14% เป็น 28.6% เช่นเดียวกับ การลงโทษเด็กอายุ 1-14 ปี ด้วยวิธีรุนแรงที่บ้าน ลดลงจาก 57.6% เหลือ 53.8%”.