สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาหลายมหาวิทยาลัยจากโครงการ Singha Biz Course และกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนนานาชาติ Aiesec ลงพื้นที่ป่าชายเลนคลอง
ตำหรุ รอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนลงต้นกล้าพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น กลุ่มไม้โกงกาง ไม้แสม และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่จำเป็นในระบบนิเวศ คือ ปลากะพงขาว เติมความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าชายเลน ตลอดจนการให้ความรู้แก่เยาวชนในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญของป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และยังช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ได้ให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในชุมชนคลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี มาอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีนาเกลือผืนสุดท้ายของ จ.ชลบุรี และเป็นตำบลรอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ป่าชายเลนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนปอดของทั้งสองจังหวัด และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งชาวบ้านในบริเวณนี้ได้ร่วมมือกันดูแลและอนุรักษ์อย่างเต็มที่ จนทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณนี้ยังมีความสมบูรณ์ที่ค่อนข้างดี โดยทางสถาบันฯ ได้ช่วยส่งเสริมความรู้ ตลอดจนดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งธนาคารต้นกล้าป่าชายเลนจากกระบอกไม้ไผ่ เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ดำเนินการโดยชุมชน เพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน ทางสถาบันฯ ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในครั้งนี้ได้ร่วมกับสิงห์อาสา นำเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาหลายสถาบันร่วมแรงร่วมใจกันกับคนในพื้นที่เติมความสมบูรณ์ให้พื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณนี้ ทั้งการปลูกไม้เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและการปล่อยสัตว์น้ำที่จำเป็นต่อระบบนิเวศ และมีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน
นายศุภวิชญ์ นันทปัญจพร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการเผยว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่รู้สึกว่ามันสำคัญมากแค่ไหน แต่มาช่วงหลังๆ ในช่วงหน้าร้อนของไทยมันร้อนมากและเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันส่งผลกระทบต่อโลกแล้วจริงๆ แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือตั้งแต่วันนี้มันจะเปลี่ยนแปลงแน่นอน สำหรับกิจกรรมสิงห์อาสาที่ได้เข้าร่วมในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่ให้ประสบการณ์ได้มีโอกาสเรียนรู้จริง ทำจริงในพื้นที่ร่วมกับเพื่อนๆ สำหรับผมคิดว่าการปลูกป่าชายเลนจะสามารถช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ การปลูกป่าชายเลนโดยมีผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามาช่วยกันได้ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเข้ามาช่วยโลกใบนี้”
ด้านนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอินเดียอย่าง Ria Parmar รองประธานฝ่ายธุรกิจและการพัฒนา โครงการ AIESEC in Thailand กล่าวว่า "โลกปัจจุบันมีวิถีชีวิตและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่เราทำในทุกวันนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราอย่างมาก ดังนั้น หากเราช่วยกันอย่างเต็มที่ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นการเริ่มต้นเพียงก้าวเล็กๆ ก็สามารถทำให้โลกดีขึ้นได้ ในวันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนกับสิงห์อาสา สำหรับดิฉันการปลูกป่าชายเลนไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และสร้างประโยชน์ในอนาคตต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แห่งนี้ และทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นด้วย”
โดยนักศึกษาในโครงการ Singha Biz Course เป็นตัวแทนจาก 11 มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาแลกเปลี่ยนนานาชาติโครงการ Aiesec จากหลากหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย, เวียดนาม, เมียนมา และกัมพูชา ร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ ภารกิจอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน จ.ชลบุรี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการ "สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล" ที่ทำร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 12 สถาบัน ภาคใต้และตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นอีกหนึ่งทางเพื่อช่วยลดภาวะโลกรวน และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดยสิงห์อาสาได้มีการติดตามผลของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่าโครงการที่สิงห์อาสาจัดขึ้นมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน