ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม แต่มีฝนตกลงใส่เล็กๆน้อยๆ แค่เป็นพิธี ไปไหนมาไหนได้ยินแต่เสียงบ่นของชาวบ้าน ทำไมจึงร้อนจัดขนาดนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม สภาวะร้อนจัดแล้งจัดกระจายไปทั่วโลก

นักวิชาการท่านหนึ่ง คือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงต้นของเอลนีโญเต็มตัวแล้ว จะลากยาวไปถึงเดือนมีนาคม 2567 เป็นปรากฏการณ์ร้อนผสมภัยแล้ง และมีความเป็นไปได้ที่จะลากยาวเป็น “ดับเบิลเอลนีโญ”

เมื่อตอนที่เอลนีโญเริ่มเป็นข่าว ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าฝนจะเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. กลับมาตกอีกในราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายน แต่ขณะนี้คาดว่าฝนทิ้งช่วงจะลากยาวไปถึงเดือนมีนาคม 2567 ผลการศึกษาของนักวิชาการบางคน คาดว่าเอลนีโญอาจลากยาวถึง 5 ปี

มีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและองค์กรภาคประชาชนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรับมือกับเอลนีโญ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะจะเกิดการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเพาะปลูก เพื่ออุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อาจเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพงทั้งแผนดิน

จึงมีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชน องค์กรร่วมภาคเอกชน ซึ่งเป็นองค์กรของบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการเศรษฐกิจ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนรับมือเอลนีโญ แต่ไม่ได้รับคำตอบ อาจถือเป็นรัฐบาลรักษาการ

เอลนีโญที่อาจยืดเยื้อยาวนาน เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลไทยไม่สมประกอบ เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศเต็มตัว รัฐบาลใหม่ ก็ยังตั้งไม่ได้ ไม่ทราบว่าการเลือกนายก รัฐมนตรีใหม่จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน พรรคการเมืองส่วนใหญ่ใจจดใจจ่ออยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าปัญหาประเทศ

...

ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากเอลนีโญ จะเป็นเครื่องพิสูจน์คำคุยของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ว่ามีแผนจัดการน้ำของประเทศ อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมสรรพและจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ แต่ทำไมรัฐบาลจึงนิ่งเฉยต่อเสียงเรียกร้องของภาคเอกชน ต้องดูกันต่อไป ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน.