นับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 แต่ต้องสะดุดเมื่อ ครม.เห็นชอบออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราสำคัญออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566
อันประกอบด้วย “ม.22” การควบคุมตัวให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพ-เสียงต่อเนื่องตั้งแต่จับจนปล่อยตัว “ม.23” บันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว “ม.24” การเข้าถึงข้อมูลผู้ถูกควบคุม “ม.25” การไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกควบคุมกรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองกฎหมายละเมิดต่อส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล เป็นอุปสรรคการสืบสวนสอบสวน
จนเกิดการถกเถียงกันว่า “การออกพระราชกำหนดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่” ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสรุปมติ 8 ต่อ 1 พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เช่นนี้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไรนั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวในการแถลงเหตุออก พ.ร.ก.เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหายฯขัดรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมของประเทศครั้งใหญ่ฉบับหนึ่ง
ด้วย พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสมบูรณ์ในแง่ “สารบัญญัติแห่งความผิด และวิธีพิจารณาความอาญา” ที่เพิ่มเติมไปจากกฎหมายอาญาเดิมในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีความก้าวหน้า “สามารถยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก
เพราะในการควบคุมตัวทุกครั้ง “เจ้าหน้าที่รัฐ” จำเป็นต้องบันทึกภาพ-เสียงต่อเนื่อง รวมถึงการบันทึกข้อมูลบุคคลในระหว่างถูกควบคุมเสมอ ทั้งต้องแจ้งให้พนักงานอัยการ และนายอำเภอในพื้นที่ที่มีการควบคุมตัวนั้นทราบ ทำให้เป็นกฎหมายสมบูรณ์อย่างสูงยิ่งที่ “คนไทย” ต่างรอคอยที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566
...
ทว่าแทบไม่น่าเชื่อเพียงแค่ไม่กี่วันก่อนมีผลบังคับใช้ “รัฐบาล” ได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมตัวต้องบันทึกภาพ-เสียง หรือต้องแจ้งให้อัยการ นายอำเภอรับทราบ “อ้างเหตุจากอุปกรณ์กล้องบันทึกไม่พร้อม” นั้นทำให้ 4 มาตราสำคัญมีผลการบังคับใช้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.นี้
แต่ข้อเท็จจริงแล้ว “มีแผนจะยกเลิกการบังคับใช้มาตราเหล่านี้ในอนาคต” เพราะบางคนไม่ต้องการให้มีเนื้อหาใน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ อันจะเข้ามาควบคุม หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจจึงกลายเป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายตามมานี้
ปัญหาว่าสถานการณ์ปกติเช่นนี้ “การออกพระราชกำหนด” มักจะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ภัยพิบัติสาธารณะ หรือความไม่ปลอดภัยสาธารณะที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ ม.172 ดังนั้นการอ้างเหตุผลว่า “ความไม่พร้อมของอุปกรณ์” จึงไม่ใช่เหตุฉุกเฉินในการออกพระราชกำหนดได้หรือไม่
ทำให้ฝ่ายรัฐบาลรวบรวมลงชื่อ ส.ส.เสนอ “ประธานสภาฯ” เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใช้เวลา 2 เดือน ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน และอุ้มหายฯไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นนั้นก็ส่งผลให้ช่วง 60 วันนั้นไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย 4 มาตราสำคัญ
ผลตามคือสร้างความเสียหายย้อนหลังต่อ “ประชาชน” ไม่อาจอ้างเหตุยกเป็นข้อต่อสู้ในคดี “กรณีการควบคุมตัวไม่บันทึกภาพ-เสียง” ทำให้การใช้อำนาจของนายกฯ และ ครม.เข้าข่ายทำผิดจงใจละเว้นฝ่าฝืนแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ม.234 (1) หรือไม่เรื่องนี้ “ป.ป.ช.” มีหน้าที่ไต่สวนโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนยื่นการตรวจสอบ
ด้วยการอาศัยตาม “ม.235 รัฐธรรมนูญ” ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตาม ม.235 เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย
ถ้าหากว่า “ศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดี” แม้ว่า ครม. จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม “แต่ความผิดก็ยังติดตัวไปด้วย” อันจะเป็นอีกตัวแปรสำคัญของการเมืองไทย และเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองในทุกระดับ “เกิดความตระหนักต่อการฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้” ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม
หาก ป.ป.ช.ไม่ดำเนินการคงเป็นหน้าที่ของประชาชนลงชื่อ 2 หมื่นรายชื่อยื่นต่อศาลฎีกาก็ได้
นอกจากนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ยังได้รับการเปิดจาก อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ให้ข้อมูลว่า ตอนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ “ฝ่ายรัฐบาล” ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ กฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม ต่างพยายามคัดค้านการออกกฎหมายนี้มาโดยตลอด
...
ส่วนใหญ่อ้างเหตุ “ความจำเป็นเร่งด่วนในการจับกุมไม่อาจบันทึกภาพ-เสียงได้” เพราะมัวแต่มองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้ามาจับผิดส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้น “ทั้งที่จริงการบันทึกภาพ-เสียงเป็นการปกป้องตำรวจน้ำดี” กรณีถูกร้องเรียนจะมีหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
อย่างเช่นกรณี “นายตำรวจพร้อมพวกเรียกรับเงิน 140 ล้านบาท” ที่มีนายตำรวจใช้วิดีโอบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานระหว่างการปฏิบัติหน้าที่“ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น” อันเป็นการบันทึกภาพ-เสียงขณะจับกุม และควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการปกป้องตำรวจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่นั้น
แต่น่าเสียดายว่า “ตำรวจกลับแสดงออกในความไม่พร้อม” ทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมอ้างว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ที่ไม่เต็มใจที่จะใช้กฎหมาย เพราะด้วยที่ผ่านมามักถูกปล่อยให้ทำงานแบบไม่มีการควบคุม ทำให้บางครั้งใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
...
โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จชต.ที่พบการร้องเรียนผู้ถูกละเมิดในระหว่างการควบคุมตัวเป็นประจำ แต่มักไม่มีพยานหลักฐานเพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า“การบาดเจ็บเกิดจากขัดขืนต่อสู้ระหว่างจับกุม” ส่งผลให้คนทำผิดลอยนวลอยู่เสมอ แต่ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ จะทำให้ผู้ปฏิบัติระมัดระวังในการควบคุมตัวบุคคลอื่น
สำหรับเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้ว “คนไทย” ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ย้ำต่อไปว่า “เมื่อ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ มีผลบังคับใช้แล้ว” เจ้าพนักงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ฝ่ายปกครอง ดีเอสไอ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมบุคคลทุกครั้งควรบันทึกภาพ-เสียงที่จะกล่าวอ้างติดปัญหาจัดเตรียมอุปกรณ์ หรือความไม่พร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติมิได้
อย่าลือว่า “ขั้นตอนการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้” ใช้เวลาจัดทำกันมานานนับปีก่อนจะผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อปลายปี 2565 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.2566 อันเป็นเวลาพอสมควรให้ฝ่ายบริหารเตรียมงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ หรือเตรียมความพร้อมบุคลากรในการปฏิบัติได้ดีด้วยซ้ำ
ดังนั้นเรื่องนี้ “สตช.” ต้องให้ความสำคัญต่อ “ตำรวจติดกล้อง” อันจะเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหลักฐานขณะออกปฏิบัติหน้าที่ “ลดข้อพิพาทกรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับความประพฤติที่ไม่เหมาะสม” เหมือนดั่งตำรวจสหรัฐฯ ที่บังคับให้ตำรวจทุกนายติดตั้งกล้องตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ตรวจสอบการทำงานของตำรวจคนนั้นได้
ส่วนกล้องนำมาใช้ต้องมีคุณภาพ “ไม่ใช่ประมูลมาใช้ไม่กี่ครั้งชำรุด” แบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
...
สุดท้ายนี้ “พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ” ครอบคลุมในหลายมิติที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลง “ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” โดยเฉพาะการกระทำให้บุคคลสูญหายจะลดน้อยลงแน่นอน สังเกตช่วง 1-2 ปีในระหว่างการร่างกฎหมายไม่พบเหตุการณ์อุ้มหายเลยด้วยซ้ำนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี
ฉะนั้นช่วงแรกการบังคับใช้กฎหมายมักมีปัญหายุ่งยากแต่ไม่นาน “เจ้าหน้าที่รัฐ” จะสามารถปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯได้แล้วจะเห็นว่า “กฎหมายฉบับนี้” มีไว้ป้องกันไม่ให้บางคนลุแก่อำนาจ “ช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่น้ำดีทำงานโดยสุจริต” คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน.