หลายท่านอาจคุ้นชินกับเครื่องจักรกลการเกษตรกอย่างแทรกเตอร์หรือรถไถ ที่สามารถต่อพ่วงเอชเซสเซอรี่ส์ได้หลากหลาย ทั้งผาน เครื่องหยอดเมล็ดข้าว เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ฯลฯ
แม้จะทุ่นแรงงาน ที่หายากขึ้นทุกวัน เซฟเวลาไปได้หลายเท่าตัว ประหยัดสตางค์ในกระเป๋าได้ค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องมาแอบหนักใจเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
แต่รถไถไฟฟ้าต้นแบบของ อ.ศรศักดิ์ ฤทธิ์มนตรี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และทีมวิจัย ปัญหาเรื่องค่าน้ำมันน่าจะหมดไป
เจ้ารถไถไฟฟ้าไทยประดิษฐ์รุ่นต้นแบบนี้ ส่วนหนึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วยการนำรถไถเก่าเก็บกรุ ที่ถูกจอดทิ้งไว้ไม่เห็นถึงคุณค่า มาดัดแปลงใหม่ ให้ใช้พลังงานไฟฟ้าแรงต่ำ ทำให้ไม่เป็นอันตรายแม้วิ่งลุยน้ำ
งบลงทุน 2.5 แสนบาท ทำให้ได้มอเตอร์ขนาด 15 กิโลวัตต์ เครื่องยนต์ 20 แรงม้า ชาร์จไฟ 6 ชม. วิ่งได้ 3-5 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำความเร็วสูงสุด 30 กม./ชม. หากวิ่งถนนปกติทั่วไป และ 5-6 กม./ชม. กรณีเส้นทางมีข้อจำกัด เช่น หลุ่ม บ่อ ลาดชัน หรือขรุขระ
การใช้งานได้ไม่ต่างจากรถไถทั่วไป สามารถติดอุปกรณ์ต่อพ่วงได้ทุกชนิด แต่ถูกดัดแปลงให้ใช้งานง่ายกว่ามาก เพราะมีระบบเสมือนเกียร์ออโต้ ไม่มีครัช ทำให้ใช้งานได้สะดวก
จากการทดลองภาคสนามพบว่า สะดวกสบายมาก เพราะการไม่ต้องใช้ครัช ทำให้ไม่ต้องรอรอบ ไม่ต้องซ่อมบำรุงมากเหมือนรถไถทั่วไป ดูแลบำรุงรักษาเองได้ สามารถขับได้ทุกเพศทุกวัย
นี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมอันยอมเยี่ยม ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยประหยัดเงินในกระเป๋า ตอบโจทย์ทั้งเรื่องแรงงาน ผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ที่เหลือก็แล้วแต่ ภาครัฐจะสนับสนุนแค่ไหนให้ต้นแบบรถไถไฟฟ้าตัวนี้ ได้เกิดการพัฒนาต่อยอดต่อไป จะถึงขั้นส่งออกหรืออะไร ก็ขึ้นกับรัฐบาลใหม่ผลักดัน สนใจสอบถามได้ที่ 09-1867-6335.
...
สะ-เล-เต