ศาลสั่งจำคุก “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” อดีตประธานโครงการคืนคุณ แผ่นดิน 1,155 ปีปรับ 145 ล้าน ในคดีร่วมกับอีก 2 บริษัท หลอกเหยื่อ 321 ราย ฉ้อโกงลงทุนซื้อ-ขายกระเป๋าแบรนด์เนมเสียหายกว่าพันล้าน พร้อมสั่งชดใช้เงินคืน ส่วนจำเลยอื่นยกฟ้องแต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ เผยในส่วนของนายประสิทธิ์ศาลให้ฟังคำพิพากษาผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์อยู่ในเรือนจำ เพราะอดีตเคยก่อวีรกรรมเปลี่ยนชุดนักโทษและสะเดาะกุญแจหนีมาแล้ว
“ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” อ่วม คุก 1,115 ปี ปรับ 145 ล้านบาท วันที่ 3 ก.ค. ที่ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท วีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นจำเลย ที่ 1 น.ส.อมราภรณ์ หรือพันตรีหญิง พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข ที่ 2 บริษัท เหนือโลก จำกัด โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการ ในฐานะนิติบุคคล ที่ 3 นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อดีตประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน ที่ 4 นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ ที่ 5 น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม ที่ 6 บริษัท เอ็ม โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดย น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ที่ 7 น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ ที่ 8 และนายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ ที่ 9 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับในฐานความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11, 12, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้พวกจำเลยคืน หรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ จำเลยส่วนใหญ่ได้ประกัน ขณะที่นายประสิทธิ์ต้องฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์คนเดียว เพราะเคยก่อเหตุเปลี่ยนชุด ใช้กุญแจสะเดาะวิ่งหลบหนีขณะทำทีเข้าห้องน้ำแต่ถูกจับได้เสียก่อน
...
คดีนี้อัยการฟ้องว่าระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 63 ถึงวันที่ 19 เม.ย.64 พวกจำเลยได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันด้วยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โฆษณาชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขาย ฝากขายสินค้าแบรนด์เนม ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี มีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อร่วมลงทุนกับพวกจำเลยตามเว็บไซต์ต่างๆที่พวกจำเลยตั้งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วพวกจำเลยไม่มีเจตนานำเงินจากผู้เสียหายไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อนำเงินลงทุนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกจำเลยเท่านั้น สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่า 1,000 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องรู้เห็นด้วยตัวเอง สมเหตุสมผลมีรายละเอียดเชื่อมต่อเป็นลำดับเรื่องราวความเป็นมาของการกระทำความผิดตั้งแต่เปิดธุรกิจของจำเลยที่ 1, 3, 4 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1, 3, 4 ต่อสู้คดีอ้างว่ามีแผนการธุรกิจและคำนวณตามโมเดลธุรกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงนั้นเป็นเพียงแนวคิดเบิกความลอยๆ ที่โฆษณาหลอกลวงว่าประชาชนผู้เสียหายจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากนั้นไม่สามารถกระทำได้จริง พยานและหลักฐานจำเลยที่ 1, 3, 4 ยังมีข้อพิรุธ น่าสงสัยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2, 5-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2, 5-9 จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 พ.ร.ก.กู้ยืม เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกฎหลายบทต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นหนักสุด ให้จำคุกนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 กระทงละ 5 ปี จำนวน 321 กระทง รวม 1,155 ปี และปรับจำเลยที่ 1, 3 และ 4 รายละ 5 แสนบาท รวม 321 กระทง รวมเป็นเงิน 145,500,000 บาท อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 ไว้รวม 20 ปี และให้จำเลย 1, 3 และ 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายอัตราร้อยละ 5 ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2, 5-9 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
รายงานว่า อย่างไรก็ตามในวันนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ เพื่อ โดยเห็นว่าจำเลยทั้ง 9 ราย มีส่วนร่วมรู้เห็นการกระทำผิดด้วย (ความเห็นแย้ง จะมีประโยชน์ในการใช้สิทธิ์ขอให้อธิบดีรับรองให้อุทธรณ์ฎีกา)