เลคเชอร์ทะเลไทย อ.ธรณ์ เผย แหล่งหญ้าทะเลลึกลับขนาดใหญ่ ณ "เกาะท่าไร่" เรียลอันซีนของนครศรีธรรมราช สำคัญมากต่อโลมาและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณี "แหล่งหญ้าทะเลลึกลับ" ที่อยู่ในประเทศไทย

โดยระบุข้อความว่า ใกล้เย็นย่ำ ถึงเวลาเลคเชอร์ทะเลไทยกับอาจารย์ธรณ์ วันนี้ผมจะพาพวกเราไปพบกับแหล่งหญ้าทะเลลึกลับ ถือเป็นเรียลอันซีนของนครศรีธรรมราช เชื่อว่าเด็กคอนหลายคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำครับ ชายฝั่งนครศรีธรรมราชยาว 237 กม. แต่มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว ผมจึงพาทีมบลูคาร์บอน/สัตว์หายากของคณะประมงมาสำรวจ ที่นี่เรียกว่า "เกาะท่าไร่" อยู่บนรอยต่อสุราษฎร์/นคร บริเวณดอนสัก/ขนอม

ในภาพจะมองเห็นท่าเรือเฟอร์รี่ดอนสักไปเกาะสมุยอยู่ถัดไป ในอ่าวนางกำที่พบโลมาเป็นประจำ เมื่อเทียบกับสุราษฎร์แล้ว นครมีหญ้าทะเลน้อยกว่ามาก แต่มีแห่งเดียวก็ยืนหนึ่งได้ เพราะที่นี่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ปี 2539 มีรายงาน 14 ไร่ มาถึงปี 63 กรมทะเลพบหญ้า 80 ไร่ (พื้นที่ศักยภาพ 146 ไร่)

ปัญหาคือแถวนี้น้ำขุ่นมาก ดำน้ำสำรวจแทบไม่เห็น จึงต้องรอจังหวะน้ำลงต่ำแล้วสำรวจทางอากาศ ลองดูภาพเพื่อนธรณ์จะเห็นแนวดำคล้ำยาวเลียบฝั่ง พวกนั้นคือหญ้าทะเลทั้งหมด ไม่ใช่แนวปะการังเพราะขุ่นและพื้นเป็นเลน หญ้าชนิดหลักคือหญ้าคาทะเล มีหญ้าขนาดเล็กพันธุ์อื่นปะปนอยู่บ้าง เคยมีรายงานว่าพบร่องรอยของพะยูนเข้ามากินหญ้าแถวนี้

พะยูนในอ่าวบ้านดอนมี 5+ ตัว พบตั้งแต่ไชยาลงมาถึงแถวนี้ ยังเคยมีรายงานตามเกาะต่างๆ ที่มีหญ้าทะเลเยอะ เช่น เกาะพะงัน ที่สำคัญคือแม่ลูก 1 คู่ เพิ่งสำรวจพบเมื่อไม่นานมานี้ ว่ายอยู่แถวนี้แหละ โตเร็วๆ นะน้องพะยูน 

...

แต่ที่มีแน่และว่ายอยู่ใกล้ๆ เป็นประจำคือโลมาหลังโหนก (โลมาสีชมพู) ตอนผมไปสำรวจก็ว่ายอยู่แถวท่าเฟอร์รี่ เรียกว่าแทบเป็นแหล่งที่พบโลมาบ่อยสุดในชายฝั่งแถบนี้ หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่มีสัตว์น้ำอยู่เยอะมากแม้จะไม่หลากหลายเท่าแนวปะการัง ปลาต่างๆ จากแหล่งหญ้าเกาะท่าไร่ก็ว่ายออกไปอยู่บริเวณอ่าวติดกัน ทำให้โลมาชอบ

เมื่อดูจากภัยคุกคาม บนเกาะไม่มีปัญหาเนื่องจากไม่มีใครอยู่ ยังเป็นเขตอุทยานขนอม/หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมประกาศมานานแสนนาน) ปัญหาอาจมาจากการพัฒนาชายฝั่งใกล้ๆ และการขุดลอกร่องน้ำในอนาคต ถ้าหากจำเป็นต้องระวังให้มาก เพราะภัยคุกคามอันดับหนึ่งของหญ้าทะเลในเมืองไทยคือเรื่องนี้แหละ สำหรับผลกระทบจากโลกร้อนเหมือนที่เกิดกับแหล่งหญ้าบางแห่ง เท่าที่สำรวจยังไม่พบชัดเจน 

การสะสมของทรายจากคลื่นลมก็ไม่ค่อยมีเพราะเป็นพื้นที่อับลม หญ้าส่วนใหญ่อยู่ที่ลึกหน่อยเมื่อเทียบกับตามเกาะ ทำให้ไม่ค่อยโผล่พ้นน้ำโดนแดดเผา ทราบมาว่าชาวบ้านมีเครือข่ายอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลไม่ให้มีการประมงที่โหดร้ายต่อหญ้าทะเลมากเกินไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีมากครับ เพราะแหล่งหญ้าเกาะท่าไร่นอกจากเป็นแหล่งใหญ่แห่งเดียวของนคร ยังสำคัญมากต่อน้องโลมาและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แม้แทบไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ถ้าให้ผมจัดลำดับความสำคัญด้าน Ecosystem Service ที่นี่ได้แรงก์ A แน่นอน

จุดเด่นคือหายาก ทั้งจังหวัดมีแห่งเดียว เป็นที่หากินของพะยูน เกี่ยวข้องกับโลมา เป็นพื้นฐานของรายได้สำหรับชาวบ้าน ทั้งการประมงและการท่องเที่ยว จึงฝากเกาะท่าไร่ไว้ให้คนนครดูแล ขอให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็พอแล้ว อย่าให้มีการพัฒนาใดๆ มาคุกคามเกินเหตุ เพราะถ้าเกิดแบบนั้นแล้ว บอกเลยว่าฟื้นฟูยาก ปลูกหญ้าทะเลไม่ง่ายแน่นอน จะวัดผลกันก็ต้องผ่านเวลาไป 3 ปีว่ารอดขนาดไหนจะเล่าเรื่องบลูคาร์บอนและการฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เพื่อนธรณ์ฟังแบบยาวๆ อีกครั้ง แต่ตอนนี้ขอฝากแหล่งหญ้าทะเลเกาะท่าไร่ไว้ในอ้อมใจคนนครและคนไทยครับ.