วันนี้ (27 มิ.ย. 66) เวลา 10.40 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Action Learning) หลักสูตร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้กับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 84 พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง CAST” ผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก โดยมี นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายศราวุธ สุวรรณจูฑ ปลัดจังหวัดนครนายก นายปรีชา ดิลกพรเมธี นายอำเภอเมืองนครนายก นายบรรพต รัตนเกตุ นายอำเภอบ้านนา โดย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน และนายสิทธิชัย เทพภูษา อธิการวิทยาลัยการปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนนายอำเภอรุ่นที่ 84 ทุกท่าน ที่ได้มาศึกษาอบรมในหลักสูตร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในชีวิต เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตการรับราชการของชาวมหาดไทย ในการที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็น “นายอำเภอ” หรือ นายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ ซึ่งมีนัยสำคัญ คือ การเป็นผู้นำเอานโยบายของทุกกระทรวง ทบวง กรม และแนวนโยบายของภาคประชาสังคมมาขับเคลื่อนในการทำงาน ดังนั้น นายอำเภอ ผู้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงาน จึงต้องทำทุกงานของทุกกระทรวง เพราะทุกงานนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือประชาชน และต้องทำงานแบบบูรณาการและระดมสรรพกำลังจากทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้มาเป็นแม่ทัพในกองทัพ เพื่อช่วยกันในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้แก่พี่น้องประชาชน

“ผู้นำที่ดี” ต้องเป็นผู้ที่นำทุกภาคส่วนได้ และเป็นผู้ประสานงานที่ดี ทำหน้าที่ประสานจิตประสานใจผู้คนได้ จึงเป็นที่มาของหลักการทำงานแบบ “ครองตน ครองคน ครองงาน” ซึ่ง การครองตน คือ การแต่งกายที่เหมาะสมตามวัฒนธรรมประเพณีและกาลเทศะ ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ต่อมา การครองคน คือ การแสดงความรัก ความมีมนุษยสัมพันธ์และไมตรีจิตผู้อื่น การแสดงถึงแรงปรารถนา (Passion) ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนที่เห็นมาช่วยเราทำงาน ซึ่งการครองตนจะเป็นกุญแจสำคัญ นำไปสู่การครองงาน ตามแบบ R-E-R เพราะว่า นายอำเภอมีงานประจำ (Routine job) อยู่แล้ว ซึ่งการจะทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ต้องมาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรืองานพิเศษ (Extra jobs) ที่นอกเหนือจากงานในหน้าที่ประจำวัน และนอกจากจากมีความคิดริเริ่มแล้ว ต้องมีการสื่อสาร ด้วยการรายงาน (Report) ให้แก่ผู้บังคับบัญชา และพี่น้องประชาชนทราบ เพื่อรับทราบ เข้าใจ และติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของเราอีกด้วย ดังนั้น ผู้นำที่ดี ต้องมีทั้งแรงปรารถนา (Passion) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี โดยที่ความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Ability) เป็นเรื่องรอง เพราะว่า เรามีภาคีเครือข่ายที่สามารถช่วยงานได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มาช่วยนายอำเภอในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หลักสูตรนักเรียนนายอำเภอ จึงให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” เริ่มจากการปลุกเร้าจิตวิญญาณของชาวมหาดไทย ให้มีจิตใจที่รุกรบ มีความทะเยอทะยานในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายคือการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแกนกลางในการทำงาน ด้วยการสกัดเอาหลักคิด หลักการทรงงานของพระองค์มาใช้กับการทำหน้าที่ ซึ่งจากการถอดบทเรียนจากโครงการในพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการนั้น มีหลักการที่สำคัญคือการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับคนในทุกภาคีเครือข่าย จึงเป็นสาเหตุให้นายอำเภอต้องค้นหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อส่วนรวม หรือคนที่มี “จิตอาสา” ของในแต่ภาคีเครือข่าย เพื่อให้นายอำเภอและภาคีเครือข่ายจิตอาสาเหล่านั้นไปร่วมกันสร้างทีมในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือคนมหาดไทยในการไปช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการทำงานแบบใจแลกใจ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีการจัดการความรู้ หรือเก็บเอาสิ่งที่ดีจากคนในชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน ควบคู่กับการประยุกต์จากองค์ความรู้เดิมของท่าน นำมาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา (Solution) เพื่อมาพัฒนาพื้นที่ของเราให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

“การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จะเกิดขึ้นได้ ทุกคนต้องมีอุดมการณ์ มีวิธีการ และต้องนำไปปฏิบัติ ทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี ผู้นำที่ทำก่อน ผู้นำที่ทำเป็นตัวอย่าง และผู้นำที่พาไปทำ อาศัยพลังของการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะเกิดสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องอาศัยการลงพื้นที่ไปคลุกคลีตีโมง ร่วมพบปะร่วมพูดคุยกับภาคีเครือข่าย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจากเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุย นำไปสู่การ “ร่วมกันคิด” โดยที่นายอำเภอต้องกระตุ้นทำให้ที่ประชุมมีการระดมสมอง และทำให้เกิดการ “ร่วมกันทำ” ด้วยความสามัคคีร่วมใจ มีการรวมกลุ่มของคนในหมู่บ้าน เป็น คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หรือหย่อมบ้าน นำไปสู่การทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ และที่สำคัญคือการทำอย่างเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย เห็นว่าเรามีบุคลากรที่สำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ต้องพุ่งเป้าไปที่ “คน” เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมการเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่แบบตะวันตก และพัฒนาแนวทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ถอดแบบมาจากต่างประเทศที่ไม่เหมาะกับประเทศไทย ทำให้เกิดคำว่า “การทำมาหากินแบบตาโต” กล่าวคือ ทำด้วยความโลภ เกษตรกรอยากมีรายได้เยอะ จึงเริ่มนำวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ที่มีการใช้เครื่องจักร การใช้ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลง รวมถึงการปลูกพืชระยะสั้น ทำให้การทำการเกษตรไม่เกิดความยั่งยืน เกิดผลผลิตไม่ดี และขาดทุนจนเป็นหนี้ในที่สุด ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรไทย จึงได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมุ่งเน้นทำให้ประชาชน มีรากฐานชีวิตมีความมั่นคง มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งทั้งหมดต้องมาจากการที่พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เริ่มตั้งแต่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ยังมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มความเข้มแข็ง ด้วยการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การเกษตร ที่ให้ทุกคนนำผลผลิตมาแบ่งปันและนำไปขยายและต่อยอด ส่งเสริมให้ชาวบ้านในระดับครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และถ้าหากทุกครัวเรือนทำได้ ก็สามารถรวมกลุ่มให้เกิดความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นได้

“โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้วิถีการทำงานของชาวมหาดไทยและวัฒนธรรมการทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องทำการรื้อฟื้นจิตวิญญาณให้กับคนมหาดไทย ที่เจริญรอยตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพวกเรามั่นใจว่าพี่น้องชาวมหาดไทยทุกคนจะทำได้ เพราะ คนมหาดไทยมีความรักและปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนทุกคน และทุกคนเป็นข้าราชที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทุกคนช่วยกันสนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งที่ผิด” เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ของความไม่มั่นคงแน่นอนของประเทศไทย ให้ก้าวผ่านหลุดพ้นภัย ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเตือนสติคนไทยทุกคนไว้ใน สคส.พระราชทาน พ.ศ. 2547 ใจความสำคัญว่า รอบประเทศไทยมีระเบิด 4 ลูก ได้แก่ ภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ และสงคราม ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงเป็นที่มาของ หลักสูตร “ทำไมต้อง CAST” ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก แห่งนี้” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม

"ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันประสานจิต ตั้งอกตั้งใจพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้ง สร้างความรักและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสายสัมพันธ์ของนักเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 84 ให้เหนียวแน่น เพราะคนมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นายอำเภอ" ซึ่งเป็นผู้นำการบูรณาการองคาพยพภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ต้องสร้าง "ทีม" ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ ข้าราชการ ท้องที่ ท้องถิ่น และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้ทีมเหล่านี้ไปสร้างทีมให้เพิ่มพูนขึ้น ทั้งทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน ลงไปพบปะพูดคุยกับประชาชนดุจญาติมิตร ดังพุทธศาสนสุภาษิต "วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง" เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือ "ต้องทำรากฐานให้เข้มแข็งก่อน" ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รู้จักการพึ่งพาตนเอง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทฤษฎีใหม่ รวมถึงพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ส่งเสริมวิถีชีวิตแบบเกื้อหนุนจุนเจือเกื้อกูล เจือจานสังคมในลักษณะจิตอาสา แบ่งพื้นที่เป็นกลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน รู้รักสามัคคี สืบสานขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เพื่อทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งความสุขตามพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วย "ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน" เพื่อที่จะทำให้เกิดการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะ "ประเทศชาติจะยั่งยืนได้ ประชาชนต้องมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย