ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพ การเผาพื้นที่ทำกินในการทำการเกษตรเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก

นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด

กรมการข้าวจึงใคร่เชิญชวนชาวนามาปลูกข้าวในแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว

ชาวนายังได้ประโยชน์จากการสร้างคาร์บอนเครดิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาร่วมด้วยในทำนา เช่น การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ทำให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เสริม เพิ่มช่องทางรายได้มากขึ้นกว่าเดิม ยังเป็นการทำนาแบบรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

เนื่องจากคาร์บอนเครดิตเป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ที่สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ 1) ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับ อบก. หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)

2) ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง.

สะ-เล-เต