"แมงกะพรุนฟรีซดรายรสซอสน้ำมันงา" คว้ารางวัล Grand Prize ประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปีที่ 5 มจพ.หนุนต่อยอดโชว์ศักยภาพคนไทยในเวทีนานาชาติ 

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดการแข่งขันโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2566 (KMUTNB Innovation Awards 2023) ปีที่ 5 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรอบตัดสิน โดยมี 12 ทีมที่ผ่านเข้าโค้งสุดท้ายมาประชันฝีมือนำเสนอผลงานอย่างดุเดือด เข้มข้น  

โดยผลการตัดสินปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ สาขา INNOVATIVE IDEAS ได้แก่ ชุดตรวจยีนแพ้ยาแบบหลายขนานบนฐานกระดาษ จากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอันดับ 1 ได้แก่ ระบบตรวจจับการขับขี่อัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองอันดับ 2 ได้แก่ อุปกรณ์ติดตามและแสดงผลตำแหน่งของนักผจญเพลิงภายในอาคารแบบ Real-Time บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มจพ. 

ขณะที่ รางวัลชนะเลิศ สาขา INNOVATIVE PRODUCTS ได้แก่ คุราเกะ: แมงกะพรุนฟรีซดรายรสซอสน้ำมันงา คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. โดยผลงานนี้สามารถคว้ารางวัล Grand Prize มาครอง และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีนานาชาติ รองอันดับ 1 ได้แก่ EVERFRESH ผลไม้ยืดอายุด้วยโมเลกุลธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องช่วยขจัดสิ่งสกปรกจากรังนกนางแอ่น วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.  

...

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. กล่าวว่า ในปีนี้ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ส่งเข้าประกวด มากถึง 384 ผลงาน มีการพิจารณาคัดเลือกในรอบแรกให้เหลือ 60 ผลงาน และคัดเข้าสู่รอบสุดท้าย 12 ผลงาน ซึ่งผลงานต่างๆ มีความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีการใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์ โมเดล BCG และพัฒนาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้  

ขอชื่นชมทุกทีมที่ตั้งใจพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม แสดงถึงศักยภาพของคนไทยที่มีหัวก้าวหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ มจพ. พร้อมสนับสนุนทีม ได้รับรางวัล Grand Prize ไปสู่การแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ต่อไป 

วันเดียวกัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. จัดพิธีมอบยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

โดย รศ.ดร.รามิล เกศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ได้รับทุนวิจัยจาก กฟผ. จำนวน 9,987,951.18 บาท เพื่อผลิตยานใต้น้ำไร้คนขับ โดยออกแบบให้สามารถตรวจสอบสภาพทุ่นลอยน้ำ และทุ่นใต้น้ำของแผงผลิตไฟฟ้าได้ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพประเภทตัวกรองสัญญาณ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ และประเมินความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งสามารถสำรวจใต้น้ำที่มีความลึกได้ 300 เมตร มีระบบไฟส่องสว่าง และถ่ายทอดภาพขณะปฏิบัติงานใต้น้ำแบบเรียลไทม์ ผ่านกล้องที่ติดอยู่ที่ตัวยาน ผ่านการควบคุมจากสายส่งสัญญาณ    

ส่วนกรณี ทำงานแบบไร้สายสัญญาณ ก็จะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผล ทั้งนี้ ได้นำไปทดสอบการปฏิบัติงานที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ที่ เขื่อนสิรินธร และตรวจสอบสภาพแวดล้อมในเขื่อนศรีนครินทร์แล้ว พบว่ามีการทำงานได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรมด้านการสำรวจ และซ่อมบำรุงใต้น้ำ ตลอดจนป้องกันอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานโดยใช้กำลังคน