อ.ธรณ์ อธิบายปรากฏการณ์ "ปลาตาย" นับล้านตัว ที่หาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ปีนี้เยอะกว่าปีก่อนๆ คาดอาจจะเกี่ยวข้องจาก "ภาวะโลกร้อน" แนะประชาชนไม่ควรเก็บมากิน แม้ไม่มีพิษ แต่อาจทำให้ติดเชื้อ

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพปลาตายเกลื่อนที่บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร ดังที่นำเสนข่าวไปก่อนหน้านี้ (เจ้าหน้าที่เร่งสอบสาเหตุ ปรากฏการณ์ "ปลาตาย" นับล้าน บนหาดทุ่งวัวแล่น)

ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า หาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร มีปลาขึ้นมาตายจำนวนมาก จึงอยากอธิบายให้เพื่อนธรณ์ เป็นปรากฏการณ์ปกติ คนแถวนั้นเรียก "น้ำแดง" (ชื่อเฉพาะ) มักเกิดตอนต้นฤดูฝน เมื่อน้ำจืดลงทะเลเป็นจำนวนมาก พาธาตุอาหารลงทะเล สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนรวดเร็ว เกิดแพลงก์ตอนบลูม สัปดาห์ก่อนคณะประมงไปสำรวจทะเลชุมพร/เรือปราบพอดี จึงมีภาพและข้อมูลมาให้ดูครับ

ภาพแรกคืออ่าวทุ่งวัวแล่น น้ำตื้น เห็นน้ำสีเขียว เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ทำให้ปลาขาดออกซิเจนพร้อมกันจำนวนมาก น้ำตื้นและร้อน ปลาหน้าพื้นทะเลบางส่วนจึงตาย ก่อนโดนพัดขึ้นมาบนหาด ภาพสองเป็นที่ห่างฝั่ง บริเวณเรือปราบ น้ำแบ่งเป็น 2 ชั้น น้ำใสอยู่ด้านบน แต่เรือปราบลึก 24 เมตร ปลาจึงพออยู่ได้ แม้อาจมีปลาน้อยกว่าปกติ เนื่องจากน้ำร้อน ฯลฯ กลับมาที่ทุ่งวัวแล่น ตามข่าวบอกว่าปีนี้ปลาตายเยอะกว่าปีก่อนๆ เกี่ยวกับโลกร้อนไหม

คำตอบคืออาจเกี่ยวบ้าง เช่น น้ำร้อนทำให้ปลาตายง่ายขึ้น ฝนตกเยอะน้ำจืดลงทะเลเยอะ ฯลฯ แต่ผลกระทบจากโลกร้อนต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน ด้วยข้อมูลตอนนี้คงบอกว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น "อาจ" ส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม และปลาตาย ไม่เหมือนปะการังฟอกขาวที่เห็นชัดกว่าและอธิบายได้ตรงกว่า

...

ไม่ควรเก็บปลามากิน แม้ไม่มีพิษ แต่ถ้าตายมานาน ไม่สด อาจติดเชื้อ ผลกระทบโลกร้อนต่อทะเลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการเร่งปรากฏการณ์เดิมให้แรงขึ้น เช่น ปะการังฟอกขาว แพลงก์ตอนบลูม ภัยพิบัติเริ่มมองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้ว.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat