ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าแฝกที่มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์น้ำ ดิน และสิ่งแวดล้อม ก่อกำเนิดเป็นกลุ่มหญ้าแฝกย่อย แตกแขนงไปทั่วประเทศ ขยายผลสู่เครือข่ายหญ้าแฝกนานาชาติ จนนำมาซึ่งการประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7

การประชุมในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในฐานะสำนักเลขาธิการของเครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทยและเครือข่ายหญ้าแฝกในประเทศบริเวณรอบมหา สมุทรแปซิฟิก ร่วมกับ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จัดการประชุมฯขึ้นเมื่อเร็วๆนี้

ภายใต้หัวข้อ “หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ : เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ณ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ได้มีการถ่ายทอดการประชุมฯการศึกษาดูงานของผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

สำหรับเส้นทางศึกษาดูงานมีด้วยกัน 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 เป็นพื้นที่ขยายผลศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรบ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นแปลงต้นแบบการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับไม้ผลผสมผสาน เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน

ในเส้นทางเดียวกัน คณะดูงานยังได้เข้าชมศูนย์สาธิตการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกด้านป่าไม้ที่ 1 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการปลูก หญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน การปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อขยายพันธุ์

อีกจุดเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาภูมิสังคมสู่ความยั่งยืนวิถีเกษตรอินทรีย์บ้านซาง กลุ่มแฝกหลวง โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นการปลูกหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำปิง และการนำใบหญ้าแฝกมาทำจักสาน โดยกลุ่มแม่บ้านจากบ้านซาง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

...

ส่วนเส้นทางที่ 2 คณะเข้าศึกษาดูงาน คือด้านเทคโนโลยีตรวจวัด ติดตาม เตือนภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง ณ แปลงศึกษา (ดอยสะเก็ด) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แปลงเกษตรผสมผสานและการแสดงงานหัตถกรรมจากใบหญ้าแฝกของ นางเทียมตา ปาลี ประธานเครือข่ายคนรักษ์แฝก เขต 6 ต.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่.

สะ–เล–เต